xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์ ผุดห้องปฏิบัติการ ทางเดินหายใจระดับภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เปิดศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ให้เพิ่มศักยภาพเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงไวรัสทางเดินหายใจระดับภูมิภาค

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดอาคารปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ว่าไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ ชนิด A และ ชนิด B เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A พบได้ในคน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีก เป็นสาเหตุของโรคระบาดรุนแรง ชนิด B จะก่อโรคที่มีความรุนแรงน้อยกว่าชนิด Aซึ่งโรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สามารถติดต่อสู่คนและมีอัตราป่วยตายสูง ประเทศไทยมีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 25 ราย เสียชีวิต 17 รายเป็นผู้ป่วยไข้หวัดนกที่พบในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 3 จำนวน 3 ราย ในปี 2551 พบการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และอุทัยธานี ปี 2552-2553 พบการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1(2009) ทั่วประเทศปี 2557 ประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จำนวน 45,138 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิต 56 ราย ภาคกลางเป็นพื้นที่พบอัตราป่วยสูงสุด 104.24 ต่อแสนประชากร

ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเขตภาคกลางตอนบนมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่นบึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ มีการอพยพของสัตว์ปีกที่เป็นพาหนะของโรคมาอาศัยเป็นประจำทุกปี ทำให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังโรคไวรัสทางเดินหายใจในพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้พัฒนาห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ให้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านไวรัสทางเดินหายใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีขีดความสามารถเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับภูมิภาค โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ต้นแบบด้านไวรัสทางเดินหายใจ

ปี 2548-2550ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ได้ศึกษาระบาดวิทยาของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางตอนบน เพื่อการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในปี 2553 ประเทศไทยมีการระบาดใหญ่ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1(2009) อาจมีความเป็นไปได้จะพบติดเชื้อร่วมของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่และสายพันธุ์ตามฤดูกาลในผู้ป่วยคนเดียวกัน ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ศูนย์ ฯ นครสวรรค์ได้ประเมินความเสี่ยงการติดเชื้อร่วมของผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่ 8 จังหวัดรับผิดชอบ เพื่อเป็นข้อมูลในการควบคุมป้องกันโรคและการรักษา และในปี 2554ศูนย์ฯนครสวรรค์เป็นเจ้าภาพโครงการบูรณาการระดับประเทศ ได้ทำการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1(2009) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 10 แห่ง เพื่อศึกษาข้อมูลเชื้อดื้อยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1(2009) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ ซึ่งพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์H1 (2009) มีอัตราการดื้อยาเพียง
ร้อยละ 0.39


นพ.อภิชัย กล่าวว่า อาคารปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ถือเป็นห้องปฏิบัติการในส่วนภูมิภาคที่ทันสมัย มีอุปกรณ์เครื่องมือที่เพิ่มศักยภาพให้เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงไวรัสทางเดินหายใจระดับภูมิภาคดำเนินการเพาะเลี้ยงเชื้อไวรัส ตรวจวินิจฉัยเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งจะพัฒนาขีดความสามารถเพิ่มขึ้นเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับชาติ รองรับความมั่นคงทางสาธารณสุขและปัญหาโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ รวมทั้งให้การดูแลด้านรักษาและดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพทางห้องปฏิบัติการแก่ประชาชนต่อไป

รศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าศูนย์ดังกล่าว จะเป็นหน่วยงานที่ตรวจวินิจฉัยเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกในพื้นที่ได้การรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการระดับสากล ISO 15189 และ ISO 15190 ในปี 2557 ได้ทำการตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคทั้งหมด 126 ตัวอย่าง พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A จำนวน22 ตัวอย่าง แยกเป็นเชื้อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์H1 (2009) ร้อยละ 14.2 เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ A (H3) ร้อยละ 3.2และพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด B ร้อยละ 12.7 ผลการตรวจเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโดยตรง และเฝ้าระวังป้องกันการระบาดของโรคเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนกในพื้นที่

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น