xs
xsm
sm
md
lg

ไทยป่วยวัณโรคอันดับ 22 ของโลก สปสช.เผยตั้งเป้า ปี 57 รักษาผู้ป่วยวัณโรค 5.1 หมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช. เผยปี 57 ตั้งเป้ารักษาผู้ป่วยวัณโรค 51,180 ราย เน้นการค้นหาและติดตามผู้ป่วยกินยาจนครบกำหนด พร้อมเฝ้าระวังปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยา เพิ่มสิทธิการตรวจติดตามผลการรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา เผยผลรักษาผู้ป่วยวัณโรค ปี 56 สำเร็จสูงถึงร้อยละ 87.5

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วัณโรคนับเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทย จากรายงานองค์การอนามัยโลก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน 22 ประเทศ ที่มีจำนวนผู้ป่วยวัณโรคสูงสุดในโลก ปี 2555 โดยมีรายงานพบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 80,000 รายต่อปี หรือ 119 ต่อแสนประชากร แม้ว่าแนวโน้มผู้ป่วยจะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปี ปัจจุบันมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษา 60,000 ราย และอัตรารักษาสำเร็จอยู่ที่ร้อยละ 85 แต่สถานการณ์วัณโรคประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง ทั้งมาจากปัญหาวัณโรคจากกลุ่มประชากรข้ามชาติ (ต่างด้าว) และปัญหาการดื้อยาจากการกินยาที่ไม่ต่อเนื่อง จึงต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด

นพ.วินัย กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว สปสช. จึงให้ความสำคัญต่อการดูแลผู้ป่วยวัณโรคอย่างยิ่ง โดยปี 2557 นี้ ทางสำนักสนับสนุนเครือข่ายบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ แผนงานเอดส์ วัณโรค จึงได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยวัณโรคในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 51,180 ราย งบประมาณ 278.94 ล้านบาท จากเดิมปี 2556 ที่กำหนดเป้าหมายที่ 45,000 ราย เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต มุ่งดูแลและควบคุมวัณโรคให้บรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และควบคุมการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคดื้อยา โดยเน้นให้ความสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ ยารักษาวัณโรค, การตรวจห้องปฏิบัติการ, การติดตามรักษาผู้ป่วยด้วยระบบ DOT.s (Directly Observe Treatment Short course) ซึ่งเป็นระบบติดตามผู้ป่วยกินยาแบบมีพี่เลี้ยง และการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาและจัดระบบการควบคุมการใช้ยาต้านวัณโรคสำหรับผู้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยระบบสารสนเทศงานวัณโรคของ สปสช.

“ในปี 2557 นี้ นอกจาก สปสช. ได้เน้นการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยวัณโรคแล้ว โดยเฉพาะการให้ยารักษาซึ่งงบประมาณอยู่ที่ 192.21 ล้านบาทแล้ว ยังมุ่งเน้นพัฒนาระบบและควบคุมการเบิกยาวัณโรคเฉพาะสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้มีการติดตามผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการกินยาต่อเนื่องครบตามระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้หายจากวัณโรคและเป็นการป้องกันการดื้อยาของเชื้อวัณโรค รวมไปถึงการเน้นศักยภาพในการค้นหาผู้ป่วยเพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการลดการแพร่ระบาด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า เมื่อดูอัตราผลสำเร็จของการรักษาวัณโรคในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 87.2 แล้ว มีอัตราผู้ป่วยขาดยาเพียงร้อยละ 1.9 จากปี 2552 อัตราผลสำเร็จรักษาวัณโรคอยู่ที่ร้อยละ 80 และอัตราผู้ป่วยขาดยาสูงถึงร้อยละ 3.5 ส่วนปัญหาเชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งกำลังเป็นที่กังวลอย่างมากในขณะนี้ โดยเฉพาะตามพื้นที่แนวชายแดนและกลุ่มประชากรเคลื่อนย้าย นพ.วินัย กล่าวว่า สปสช.ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหานี้เช่นกัน จึงได้สนับสนุนการพัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยา ซึ่งนอกจากการตรวจวินิจฉัยวัณโรคดื้อยาที่ได้ดำเนินการก่อนหน้านี้แล้ว ในปี 2557 นี้ สปสช. ยังได้เพิ่มเติมเกณฑ์การตรวจเชื้อดื้อยาในระหว่างการรับยารักษา ซึ่งนอกจากเป็นการติดตามผลการรักษาวัณโรคดื้อยาในผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังเป็นการติดตามดูเชื้อดื้อยาวัณโรคเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์โรค

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น