xs
xsm
sm
md
lg

โลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อ 1 ใน 6 เป็นแล้วตาย สธ.เร่งศึกษาปรับวิธีตรวจรักษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบเด็กเล็ก คนแก่ คนมีโรคประจำตัว ร่างกายอ่อนแอเป็นพิเศษ เสี่ยงเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อ อึ้ง! 1 ใน 6 เป็นแล้วตาย สธ. ไทย - เวียดนาม - อินโดฯ เร่งศึกษาหาสาเหตุ หวังปรับวิธีวินิจฉัย วิธีการรักษา ช่วยเซฟชีวิต

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่โรงแรมสวิสโซเทล นายเลิศ ปาร์ค กรุงเทพฯ นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยทางการแพทย์สำหรับโรคติดเชื้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไทย เวียดนาม และ อินโดนีเซีย กำลังร่วมมือศึกษาภาวะโลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังไม่รู้จำนวนผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ชัดเจน ส่วนผลการศึกษาเบื้องต้นในประเทศไทยพบว่า 1 ใน 6 ของผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษจะเสียชีวิต ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่คาด

นพ.ดิเรก กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ศึกษาวิจัยภาวะโลหิตเป็นพิษจากโรคติดเชื้อในไทยตั้งแต่ปลายปี 2556 ในเวียดนาม เมื่อต้นปี 2557 และจะเริ่มในอินโดนีเซียช่วงปลายปี 2557 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สธ. ทั้ง 3 ประเทศ เพื่อให้รู้สาเหตุที่สำคัญ วิธีการรักษา และผลการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตเป็นพิษ เพื่อที่จะพัฒนาการวินิจฉัยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับหน่วยงานของ สธ. และบุคลากรทางสาธารณสุขในทุกประเทศ

ด้าน นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ภาวะโลหิตเป็นพิษ หรือผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง หมายถึงภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือสารพิษของเชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย การอักเสบดังกล่าวจะทำให้อวัยวะต่างๆ เสียหาย ระบบแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง อาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อลดลง ในรายที่เป็นรุนแรงความดันโลหิตจะต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายมาก ซึ่งคนที่จะเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษจากการติดเชื้อคือ คนที่มีร่างกายอ่อนแอเป็นพิเศษ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ซึ่งโครงการศึกษาฯ นี้จะศึกษาเพื่อหาสาเหตุของอาการรุนแรงเกิดจากอะไร เช่น เชื้อมีความรุนแรง หรือเกิดการดื้อยา ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้และนำมาปรับวิธีวินิจฉัยและวิธีการรักษาให้ดีขึ้นต่อไป ซึ่งจะช่วยลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะโลหิตเป็นพิษได้ โดยการศึกษาจะใช้เวลาประมาณ 2 ปีจึงจะสรุปผล

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น