xs
xsm
sm
md
lg

ทม.บ้านพรุ หาดใหญ่ จัดนวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อผู้พิการนำร่องแล้ว 11 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เทศบาลเมืองบ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จัดนวัตกรรมด้านสุขภาพ เพื่อผู้ป่วยพิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้สูงอายุ ในชื่อโครงการ “บ้านพรุเมืองใจดี” ด้วยแนวคิดการออกแบบ และลงมือก่อสร้างตามหลัก universal design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล นำร่องไปแล้ว 11 ราย

นายวรวัฒน์ ชีวะอิสระกุล นายกเทศมนตรีเมืองบ้านพรุ กล่าวถึงแนวคิดของโครงการบ้านพรุเมืองใจดีว่า มาจากการที่ตนเห็นผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ซึ่งต้องได้รับการดูแล 3 ระยะด้วยกัน คือ ช่วงเริ่มต้น ผู้ป่วยต้องได้รับการวินิจฉัยโรคว่าอาการที่เป็นเกิดมาจากสาเหตุใด ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่เมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน ต้องได้รับการดูแลจากลูกหลาน ในเรื่องการพลิกตัว ป้อนอาหาร และการขับถ่าย ระยะนี้มีความสำคัญทางการแพทย์คือ ทำอย่างไรจะให้ผู้ป่วยได้รับการกายภาพบำบัด ฟื้นฟูสภาพให้กลับมาใกล้เคียงกับสภาพเดิมที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงหลังจากผู้ป่วยกลับบ้านจะได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีไม่ถึง 30% ซึ่งก็จะลามไปสู่ช่วงที่สาม คือ พิการถาวร โดยโครงการบ้านพรุเมืองใจดี ได้เข้ามาช่วยในช่วงที่สามนั่นเอง

“วันหนึ่งผมได้ดูรายการเมืองใจดี มีนายกฤษนะ ละไล นักข่าวซึ่งประสบอุบัติเหตุทำให้ขาพิการทั้งสองข้าง เป็นพิธีกร เป็นรายการเรียลิตีโชว์รูปแบบใหม่ที่อาสามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างทัศนคติใหม่ ด้วยการออกแบบ และลงมือก่อสร้างตามหลัก universal design หรือการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล”

โดยมีวิธีการดำเนินการคือ ไปสำรวจบ้าน เพื่อคุยกับคนในครอบครัวว่าพร้อมจะให้ช่วยหรือไม่ ถ้าพร้อมก็จะมีสถาปนิก และนักกายภาพบำบัดไปประเมิน เพื่อออกแบบเครื่องมือ เครื่องใช้ ให้คนพิการสามารถใช้ได้เป็นอย่างดี เช่น ก๊อกน้ำ ผู้ป่วยบางคนมือไม่มีแรง ก็ออกแบบให้ใช้ข้อศอกโยกเพื่อเปิดได้ หรือส้วมจากนั่งยองก็เปลี่ยนเป็นนั่งราบ มีชักโครก เป็นต้น โดยมีนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคมาช่วยก่อสร้างให้

“จากนั้นผมก็นำแนวคิดดังกล่าวมาปรับใช้ ในชื่อโครงการบ้านพรุเมืองใจดี เริ่มขึ้นในปี 2556 ตั้งเป้าไว้ 20 ราย แต่ปีแรกทำได้ 6 ราย ตั้งงบไว้รายละ 10,000 บาท และปีต่อมาทำได้อีก 5 ราย”

นายวรวัฒน์ กล่าวถึงปัญหา และอุปสรรคว่า ในปีแรกมีปัญหาเรื่องงบประมาณรายละ 10,000 บาท ไม่เพียงพอ จึงแก้ปัญหาโดยให้ลูกหลานร่วมจ่าย บางรายครอบครัวก็ไม่มีเงิน ต้องมีการประเมิน แล้วยกเว้นระเบียบให้ นอกจากนั้น ก็มีปัญหาเรื่องช่างก่อสร้าง ซึ่งหายากมาก เพราะเป็นงานเล็กๆ และเว้นระยะในการทำในแต่ละบ้าน 2-3 เดือน จึงแก้ปัญหาโดยการหาคนที่ไม่ได้เป็นช่างมืออาชีพ แต่ว่างงาน สนใจก็มาทำ ส่วนปัญหาเรื่องวิธีคิดของเรากับเขาไม่ตรงกัน ก็ต้องทำความเข้าใจกัน บางคนไม่อยากเปลี่ยนเพราะความเคยชิน เราก็อธิบายเหตุผล พอทำเสร็จเขาได้ใช้ เกิดความสะดวกขึ้นจริง เขาก็ชอบ

“หลังจากได้ดำเนินการนำร่องไปในปีแรกแล้ว ผมมองว่ายังไม่ถึงเป้าหมายที่ต้องการ เพราะสิ่งที่ไปปรับปรุงให้ผู้พิการเป็นแบบประหยัดมาก เช่น โถส้วม เปลี่ยนแล้วก็ยังต้องไปตักน้ำมาราด ผู้พิการก็ยังไม่สะดวก ผมจึงให้แนวคิดใหม่ว่า ควรเปลี่ยนเป็นโถนั่งราบที่มีที่เก็บน้ำได้ บางรายต้องซื้อปั๊มน้ำให้ ประตูต้องปรับเปลี่ยน รวมถึงราวจับด้วย ทำให้งบประมาณต้องเพิ่มขึ้นในแต่ละบ้านจาก 10,000 บาท เป็น 18,000 บาท” นายวรวัฒน์กล่าว

โครงการนี้ช่วยเหลือคนได้มาก คิดว่าจะทำต่อไปเรื่อยๆ ตั้งเป้าไว้ปีละประมาณ 20 ราย คัดเลือกโดยคณะกรรมการที่มีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกันพิจารณา ผลตอบรับของโครงการดีมาก สิ่งที่อยากฝากไว้คือ อยากให้ญาติผู้ป่วยให้ความสำคัญเรื่องการดูแลผู้ป่วย เมื่ออยู่ในครอบครัวเดียวกัน ต้องดูแลให้กำลังใจกัน ใช้หลักพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด เทศบาลทำโครงการนี้เพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน

นายกลั่น หมั่นดี อายุ 73 ปี อัมพฤกษ์ด้านซ้าย ไม่มีแรง สามารถเดินได้เล็กน้อย ใช้ walker ค้ำยัน กล่าวว่า เมื่อก่อนเข้าห้องน้ำลำบาก ต้องเกาะข้างฝาไป ส้วมก็เป็นแบบนั่งยอง น้ำก็ต้องตักอาบ ไม่สะดวก เพราะมือไม่มีแรง ขณะนี้เทศบาลมาทำราวจับ และเปลี่ยนส้วมเป็นแบบชักโครก มีฝักบัวสำหรับอาบน้ำ ทำให้สะดวก และรู้สึกปลอดภัยขึ้นมาก

นายปรีชา พุทธกูล อายุ 51 ปี อาการอัมพฤกษ์ขาขวาอ่อนแรง จากการประสบอุบัติเหตุเมื่อ 10 ปีก่อน กล่าวว่า เมื่อก่อนเข้าห้องน้ำต้องเกาะข้างฝา ส้วมก็เป็นแบบนั่งราบ ต้องราดน้ำเอง ไม่สะดวก เมื่อเปลี่ยนเป็นชักโครก มีราวจับ มีฝักบัว ทำให้การเข้าห้องน้ำ การอาบน้ำ สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ส่วนพื้นทางเทศบาลจะปูกระเบื้องให้ แต่ตนเองรู้สึกขาสั่นทุกครั้งที่เหยียบบนกระเบื้องที่เปียกน้ำ จึงไม่ได้ให้ทำในส่วนนี้ โครงการนี้ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ดีมาก อยากให้เทศบาลช่วยเหลือผู้ป่วยรายอื่นๆ ด้วย

นางปราณี เกษระ อายุ 72 ปี อาศัยอยู่กับน้องชาย ซึ่งตาบอด แขนขาอ่อนแรง ป่วยและพิการแต่กำเนิด กล่าวว่า พวกเราสองพี่น้องอยู่ในสภาพตาบอดทั้งคู่ ตัวป้าเองถูกตัดขาข้างหนึ่ง เนื่องจากโรคเบาหวาน จึงต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา เมื่อก่อนเวลาเข้าห้องน้ำ จะใช้มือจับปากถังน้ำอย่างระมัดระวัง เพราะถ้าล้มแล้ว ก็ล้มเลย ลุกไม่ได้ จนกว่าจะมีคนมาช่วย เมื่อมีราวจับ มีการปรับพื้นห้องน้ำ ทำให้เราสะดวก และรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น


นายปรีชา พุทธกูล อายุ 51 ปี อาการอัมพฤกษ์ขาขวาอ่อนแรง

นายวรวัฒน์ ชีวะอิสระกุล นายกเทศมนตรีเมืองบ้านพรุ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น