xs
xsm
sm
md
lg

ลำไส้กลืนกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.นพ.รวิศ เรืองตระกูล
ภาควิชาศัลยศาสตร์


สำหรับเด็กเล็กๆ ความเจ็บป่วยนั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ หนึ่งในโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตคือ โรคลำไส้กลืนกัน

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอนของการเกิดโรคลำไส้กลืนกัน แต่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการเหนี่ยวนำบางอย่าง เช่น ต่อมน้ำเหลืองในลำไส้ที่โตขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากไข้หวัด หรือลำไส้อักเสบเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดภาวะที่ส่วนของลำไส้เล็กที่อยู่ต้นกว่า ค่อยๆ เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า ในลักษณะที่เรียกว่ากลืนกันนั่นเอง ทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันภายใน โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ และมักจะพบบ่อยในเด็กเล็กช่วงอายุ 4-8 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่อ้วนท้วน ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรงดี

อาการสำคัญที่บ่งชี้ว่าอาจเป็นโรคลำไส้กลืนกัน

- เด็กจะร้องกรี๊ด จากอาการปวดท้อง เมื่อลำไส้เกิดการบีบตัว

- ตัวซีด มือ-เท้าเกร็ง เหงื่อออกตามร่างกาย และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย

- อาการปวดท้องจะค่อยๆ ลดลงเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นชั่วขณะ จนกระทั่งเด็กปวดท้องอีกครั้งพร้อมกับอาเจียน ซึ่งอาจจะมีสีเขียวของน้ำดีปนมาด้วย

- เมื่อลำไส้กลืนกันมากขึ้น เด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีคล้ำปนออกมากับมูก หรืออาจออกมาเป็นเลือดสดก็ได้

- เด็กจะมีไข้ต่ำและซึมลง


การวินิจฉัยโรค

เนื่องจากอาการของโรคเกิดขึ้นเฉียบพลัน เด็กอาจอยู่ในภาวะขาดน้ำจากการอาเจียน จำเป็นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ ร่วมกับให้ยาฆ่าเชื้อ และผ่านกระบวนการวินิจฉัยโรค โดยซักประวัติ ตรวจร่างกายเพื่อคลำหาก้อนเนื้อที่เกิดจากลำไส้กลืนกัน และการตรวจอัลตราซาวนด์ เพื่อดูว่าลำไส้กลืนกันหรือไม่

การรักษา

1.ดันลำไส้ส่วนที่เคลื่อนตัวเข้าไป ให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่ โดยใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก แล้วสวนลำไส้ใหญ่ด้วยสารทึบแสง หรือใช้แรงกดอากาศจากก๊าซเป็นตัวดัน หากสามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เด็กสามารถกินนมแม่หรืออาหารเสริมได้ตามปกติภายในเวลา 12 ชั่วโมง หลังจากดันแล้ว และกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน

2.กรณีที่ลำไส้มีการกลืนกันเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการเน่าของลำไส้ หรือไม่สามารถดันลำไส้ได้ จะใช้การผ่าตัดให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออก ในกรณีที่เกิดการเน่าตายของลำไส้ จะทำการตัดลำไส้ที่เน่าออก และต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน การดูแลหลังผ่าตัด อาจใช้เวลานานกว่าวิธีดันลำไส้ เด็กสามารถกินอาหารได้ตามปกติหลังจากนั้น 3-5 วัน


--------------------------------------------------------

พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช

ศิริราชคืนสู่เหย้า

ขอเชิญแพทย์ศิริราชทุกรุ่นร่วมงาน “ศิริราชคืนสู่เหย้า ที่เราข้ามฟาก” ในวันเสาร์ที่ 1 มี.ค.นี้ เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป ณ ลานพลับพลาสยามินทราศิริราชานุสรณีย์ สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ สอบถาม โทร.0 2419 8518


กำลังโหลดความคิดเห็น