xs
xsm
sm
md
lg

อุทาหรณ์ "โรคลมชัก" แผลงฤทธิ์ขณะขับรถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอบคุณภาพประกอบจาก shareherb.com
เป็นข่าวอันน่าสลดใจที่ไม่มีใครอยากให้เกิด กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนในจังหวัดหนองบัวลำภูเกิดอาการลมชักกำเริบขณะขับรถ ทำให้พุ่งชนนักเรียนเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บอีกนับสิบ โดยผอ.ท่านนี้ ยอมรับว่าเป็นโรคลมชักมานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเคยมีอาการวูบและเกิดอุบัติเหตุขณะขับรถอยู่บ่อยครั้งจนต้องจ้างคนขับรถให้ จุดประเด็นให้สังคมสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับ "โรคลมชัก" หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "ลมบ้าหมู" กันมากขึ้น

โอกาสนี้ ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live จึงขออนุญาตหยิบยกบทสัมภาษณ์เมื่อครั้งได้พูดคุยกับคุณหมอด้านโรคลมชัก โรงพยายาลกรุงเทพ เพื่อเป็นการย้ำเตือน และนำไปสู่การรู้เท่าทันโรคดังกล่าวนี้กันอีกครั้งก่อนจะถูกมันแผลงฤทธิ์เหมือนเหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ในครั้งนี้

กล่าวสำหรับโรคลมชัก ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์ระบบประสาท ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคลมชัก ศูนย์สมอง และระบบประสาท โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เคยให้ความรู้เอาไว้ว่า เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงขณะที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดทำงานมากเกินไปชั่วขณะ โดยอาการที่จะแสดงนั้นขึ้นอยู่ว่าส่วนใดของสมองที่ทำงานมากเกินปกติ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่แสดงออกมาแตกต่างกัน

สำหรับอาการของโรค แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก 1. คือกลุ่มที่มีอาการชักจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองเฉพาะส่วน หรือเฉพาะตำแหน่ง ซึ่งอาการที่แสดงออก จะมีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสมองที่ทำงานผิดปกตินั้นมีหน้าที่ควบคุมอะไร เช่น ถ้าเกิดขึ้นบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อแขน และใบหน้า อาการชักที่แสดงออกมาจะเป็นการกระตุก เกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้าหรือแขน

ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มอาการที่สมองทำงานผิดปกติทั่วทั้งสมอง โดยจะแสดงออกมาได้ทั้งอาการชักเกร็งกระตุกรวมทั้ง ตาเหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว ผงกศีรษะหรือสัปหงก สะดุ้งผวา หรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ โดยไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้สึกตัว มีภาวะวูบเบลอจำอะไรไม่ได้ไปชั่วขณะ เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคนี้ เพราะไม่ได้แสดงออกมาในรูปของอาการชักเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อและไม่เป็นที่สังเกตของคนทั่วไป จึงมักมาพบแพทย์ช้าหรือทำการวินิจฉัยโรคได้ยาก

"หากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ไปปรากฏที่สมองส่วนควบคุมจิตใจ ผู้ป่วยอาจมีอาการทางจิตใจที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีความรู้สึกที่คุ้นเคยกับสถานที่หรือบุคคลทั้งๆ ที่ไม่เคยไปในสถานที่นั้นหรือรู้จัก เคยเจอกับคนนั้นมาก่อน ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เคยคุ้น สิ่งของที่เห็นอยู่ทุกวัน กลับเกิดความรู้สึกแปลกกับสิ่งของเหล่านั้น เช่น เห็นหน้าพ่อแม่ตัวเองแต่กลับรู้สึกเหมือนคนแปลกหน้า ตลอดจนมีการเหม่อลอย ไม่ได้ยินในสิ่งที่คนพูดหรือถาม อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคลมชักได้" แพทย์ระบบประสาทอธิบายเสริม

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยกว่าครึ่งไม่สามารถหาสาเหตุของอาการชักได้ ส่วนที่หาสาเหตุได้นั้น คุณหมอคนเดียวกันบอกว่า เกิดจากภาวะผิดปกติของสมองที่มีสาเหตุเนื่องมาจาก เช่น อุบัติเหตุทางศีรษะ ภาวะขาดออกซิเจนของสมอง ภาวะเนื้องอกในสมอง ได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว หรือภาวะสมองพิการผิดรูปของเนื้อสมอง รวมทั้ง โรคติดเชื้อทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ไข้ไวรัสสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค

ด้วยอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันนี่เอง ทำให้หลายๆ คนทำตัวไม่ถูก และไม่รู้จะช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างไร เรื่องนี้ ดร.นพ.โยธิน แนะนำวิธีการรับมือไว้ว่า เนื่องจากการชักของผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะหยุดได้เองภายในเวลา 1-2 นาที ดังนั้น ผู้ที่อยู่รอบข้าง หรือผู้ที่พบเห็นสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ โดยการคอยดูแลผู้ป่วยที่กำลังชักให้ปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นดังนี้

1. อย่าตื่นเต้นตกใจ ถ้าหากคนในบ้านชักกระตุกอยู่ในที่อันตราย เช่น บนที่สูง ชั้นบันได หรืออื่นๆ ต้องพยายามพาให้พ้นจากจุดอันตราย และหากมีวัสดุรอบๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ให้เก็บออกไป และพยายามพยุงผู้ป่วยให้นอนราบกับพื้น และคลายเสื้อผ้าออกให้หลวม

2. พลิกศีรษะผู้ป่วยให้นอนตะแคง เพื่อให้น้ำลายไหลออกทางมุมปาก และไม่ให้ลิ้นปิดกั้นทางเดินหายใจ

3. พยายามอย่าเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดยัดเข้าไปในปาก เพราะถ้าเป็นของแข็ง เมื่อคนที่ชัก กัดลงไป อาจทำให้ฟัน หรือกระดูกกรามหักได้ ทางที่ดี ควรใช้ผ้าม้วนๆ ใส่เข้าในปากจะดีกว่า

4.หากผู้ป่วยชักนานเกินกว่า 5 นาที โดยไม่รู้สึกตัวควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ส่วนกรณีผู้ป่วยที่รู้ว่าตัวเองมีโรคประจำตัวเป็นโรคลมชัก การอยู่กับโรคลมชักอย่างรู้เท่าทัน คือสิ่งที่จะละเลยไม่ได้ ทางที่ดี ควรงดหรือลดความถี่ในการขับรถ เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ถ้าเกิดอาการชักขณะขับรถ นอกจากนี้ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรอดนอน แต่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องปะทะกัน กีฬาที่ผาดโผน หรือกีฬาทางน้ำ เพราะหากเกิดอาการชัก อาจทำให้จมน้ำเสียชีวิตได้เลย

สำหรับการรักษานั้น ต้องบอกว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคลมชักสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนผู้ป่วยที่เหลือครึ่งหนึ่งสามารถรักษาให้ไม่มีอาการชักได้ เพียงแต่ต้องรับประทานยากันชักอย่างต่อเนื่อง มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่สามารถหยุดอาการชักได้ด้วยยา และต้องรักษาด้วยการผ่าตัด (ในกรณีผู้ป่วยมีสาเหตุการชักจากสมองมีความผิดปกติ เช่น โรคเนื้องอกสมอง ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นต้น)

สุดท้ายนี้ คงต้องย้ำกันอีกทีว่า "โรคลมชัก" เป็นโรคที่จะละเลยไม่ได้เด็ดขาด ต้องรู้และอยู่กับมันอย่างเท่าทัน เพราะนอกจากจะส่งร้ายต่อตัวผู้ป่วยเองแล้ว ยังส่งผลร้ายถึงชีวิตต่อผู้อื่นได้อีกด้วย

เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ Live



ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น