xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยผลตรวจแล็บจุฬาฯ หญิง 48 ปี ไม่พบอีโบลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (ซ้าย) นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ.
สธ. เผยผลตรวจเลือดหญิงวัย 48 ปี พบเกล็ดเลือดสูง และไม่มีอาการไข้ ชี้ไม่เข้าข่ายเฝ้าระวังโรคอีโบลา ส่วนผลตรวจเชื้อจากแล็บจุฬาฯ ให้ผลเป็นลบ ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ติดเชื้อ ระบุแต่มีความเครียด เหตุบางสื่อให้ข้อมูลเชิงลึกถึงบ้าน ซ้ำอยู่ห้องแยกโรคคนเดียว ด้านท่าอากาศยานมีระบบเฝ้าระวังคนเปลี่ยนเครื่อง หากพบป่วยไข้ อาเจียน มีการแจ้งเตือนทันที

วันนี้ (22 ส.ค.)​ ที่โรงแรมรามากาเดนส์​ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมเตรียมความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หากพบผู้ป่วยติดเชื้ออีโบลาในไทย ซึ่งมีแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ จำนวน 550 คนเข้าร่วม ว่า จากการสอบสวนโรคอีโบลา หญิงวัย 48 ปี ล่าสุด เมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 ส.ค. ไม่พบว่ามีไข้ อุณหภูมิ 37 องศา ผลการตรวจเลือดเบื้องต้นจากห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลเป็นลบ ไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าติดเชื้ออีโบลา ทั้งนี้ คณะกรรมการวินิจฉัยยืนยัน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและการแพทย์ ซึ่งมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นประธาน จะพิจารณาผลการสอบสวนโรคทั้งหมดว่า ต้องเฝ้าระวังต่อโดยการเจาะเลือดตรวจอีกหรือไม่ หรือให้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อไร โดยทั้งหมดเป็นไปตามหลักสากลในการควบคุมโรค คือ ให้อยู่ห้องแยกโรค ส่วนแพทย์ พยาบาล ผู้สัมผัส ให้ใส่ชุดปฏิบัติการกราวด์กันน้ำ

“ขณะนี้มีความร่วมมือระหว่างโรงเรียนแพทย์​ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการตรวจหาเชื้อ ซึ่งเบื้องต้นห้องแล็บที่ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก สัตว์สู่คน ภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถตรวจเชื้อเบื้องต้นได้ โดยผลของหญิงรายดังกล่าวเป็นลบ อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมหญิงรายดังกล่าวที่ออกมาแสดงตัว” ปลัด สธ. กล่าว

พญ.จริยา แสงสัจจา ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า อาการทั่วไปหญิงรายนี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่มีความเครียดเล็กน้อย เนื่องจากต้องอยู่ห้องควบคุมพิเศษตามลำพัง ท่ามกลางแพทย์ พยาบาลที่ต้องใส่ชุดป้องกันโรค โดยจะใช้การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผ่านโทรศัพท์เท่านั้น เพื่อให้มีคนติดต่อสัมผัสให้น้อยที่สุด ​สำหรับผื่นนั้นจากการสอบถามพบว่า หญิงรายนี้มีประวัติเป็นผื่นแพ้บ่อยๆ เป็นคนแพ้ง่าย ซึ่งลักษณะเป็นผื่นแดงๆ ไม่มีลักษณะผื่นเลือดออก หรือ ผุพอง เหมือนอาการของโรคอีโบลาแต่อย่างใด ​

ต่อมาเมื่อเวลา 12.00 น. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า อาการทั่วไปของหญิงรายดังกล่าวยังดี ไม่มีไข้ โดยวัดไข้ทุก 4 ชั่วโมง ส่วนผลการตรวจ​เกล็ดเลือดอยู่ที่ปริมาณ 190,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานของผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา ที่จะมีเกล็ดเลือดต่ำกว่า 150,000 ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร และต้องตรวจเชื้อให้ชัดเจนว่าเป็นอีโบลาหรือไม่ ขณะที่ผลตรวจเลือดทางห้องแล็บเบื้องต้นเป็นลบ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ​ฯ จะประชุมเพื่อพิจารณา​ข้อมูลทางคลินิกอีกครั้ง ยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะให้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อใด

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับผู้ใกล้ชิดจำนวน 13 ราย มีรายชื่อทุกคนและติดตามอาการทุกวัน เบื้องต้นทั้งหมดอาการปกติ ส่วนหญิงไทยรายดังกล่าวยังไม่เข้าข่ายแม้กระทั่งสงสัย แต่จะมีการใช้มาตรการควบคุมโรคอย่างเต็มที่ ที่น่าห่วงคือ สภาพจิตใจของหญิงรายนี้ เพราะเกิดความเครียดมาก จากความเป็นห่วงครอบครัว เนื่องจากมีบางสื่อรายงานละเอียดไปถึงบ้านของหญิงรายนี้ จึงอยากขอความร่วมมือว่า ความลับของผู้ป่วยเป็นสิ่งที่สำคัญ การรายงานข่าวเช่นนี้จะทำให้เกิดผลกระทบ

นพ.โอภาส กล่าวว่า อาการเด่นของโรคอีโบลา คือ มีไข้ อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งเมื่อมีไข้อาการจะรุดหน้ารวดเร็วมาก จนเมื่อเกล็ดเลือดเริ่มต่ำ จึงจะอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤตจะเสียชีวิตใน 2 - 7 วัน หากผ่านช่วงนี้ไปได้ ร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนผื่นไม่ใช่อาการเด่น ในแง่การรักษาต้องรักษาตามอาการ เช่น ให้เกล็ดเลือด ให้น้ำเกลือ เป็นต้น ซึ่งหากพื้นฐานการแพทย์ดีก็มีโอกาสรักษาหายได้ เช่น สหรัฐอเมริกาที่รับผู้ป่วยกลับไปรักษา สำหรับยาซีแมปที่ใช้รักษาแพทย์และพยาบาลชาวสหรัฐฯนั้น ขณะนี้หายดีแล้ว แต่ในทางการแพทย์ยังเป็นอัตราการรักษาหายที่ต่ำมาก ยังไม่ถือว่าสำเร็จ

นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์อีโบลาทั่วโลกขณะนี้ ยังระบาดอยู่ที่ 3 ประเทศ คือ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน และอีก 1 เมือง คือ ลากอส ประเทศไนจีเรีย โดยสถานการณ์ที่ลากอสดีขึ้น ไม่พบผู้ป่วยและเสียชีวิตรายใหม่ ประเทศกินี มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย ส่วนไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน มีความน่าเป็นห่วงที่สุด โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานข้อมูลล่าสุดว่า มีผู้ป่วยรวมแล้ว 2,473 ราย เสียชีวิต 1,250 ราย มีการรายงานข่าวพบผู้เดินทางไปประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย เยอรมนี เวียดนาม และ พม่า เป็นต้น ติดเชื้ออีโบลาประมาณ 60 - 70 เหตุการณ์ จากการตรวจสอบไม่พบว่าการติดเชื้อแต่อย่างใด รวมถึงไทยด้วย ทั้งนี้ WHO แบ่งสถานการณ์เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มประเทศระบาด 2. กลุ่มประเทศรอบๆ การระบาด เช่น ไอวอรีโคสต์ และประเทศที่มีผู้ป่วยเดินทางผ่านเข้าออก และ 3. กลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ ซึ่งไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดย WHO ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงการออกมาตรการดูแลผู้โดยสารที่เดินทางมาเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินนานาชาติของไทย นพ.โอภาส กล่าวว่า ตามกฎหมายหากยังไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ยังไม่ถือว่าเข้าประเทศ ไม่สามารถใช้กฎหมายควบคุมโรคติดต่อ​ได้ แม้จะมีการประกาศให้อีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายเมื่อวันที่ 15 ส.ค. แล้วก็ตาม ทั้งนี้ ท่าอากาศยานได้ทำความเข้าใจและแจ้งเตือน พนักงานทำความสะอาด และพนักงานรักษาความปลอดภัยให้สอดส่องว่ามีผู้โดยสารรอเปลี่ยนเที่ยวบินมีอาการป่วยไข้ โดยเฉพาะอาเจียนหรือไม่ หากพบให้แจ้งหน่วยแพทย์ท่าอากาศยานทันที และให้แจ้งกรมควบคุมโรค เพื่อเฝ้าระวังและสอบถามถึงประเทศที่เดินทางมาจากต้นทาง

ด้าน นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ช่วยปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือให้ทุกด่านตรวจคนเข้าเมือง ทั้งทางอากาศ ทางน้ำ เตรียมความพร้อม ส่วน​ความพร้อมทางการแพทย์ ขณะนี้​มีห้องแยกโรคในโรงพยาบาลศูนย์ทั่วประเทศ​ สำหรับการสื่อสารความเสี่ยงมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี มีการประสานความร่วมมือทั่วประเทศ​ และขอย้ำว่า​การระบาดของโรคอีโบลา ไม่ได้เป็นโรคติดต่อง่าย แต่การระบาดในแอฟริกาส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานทางด้านสาธารณสุขที่ยังไม่ดี

ขณะเดียวกัน ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. ได้เป็นประธานประชุมผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคอีโบลา โดยกล่าวว่า ประชุมครั้งนี้เพื่อสื่อสารนโยบายเร่งด่วนกับส่วนภูมิภาคเพื่อความรวดเร็วในการรับมือเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยกำชับให้ สสจ.ทุกแห่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับสถานการณ์หากพบผู้ป่วยในประเทศไทยและปฏิบัติตามแนวทางจาก สธ.อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องการควบคุมป้องกัน เฝ้าระวังการเกิดโรค การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยดูแลรักษา หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามทีมผู้เชี่ยวชาญได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่











กำลังโหลดความคิดเห็น