สธ. เตรียมซักซ้อมแผนรับมือ “อีโบลา” 20 ส.ค. เข้มด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกทาง เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังผู้โดยสารทั้งลำ หากพบผู้ป่วยจาก 4 ประเทศระบาด พร้อมติดตามอาการต่อเนื่อง 21 วัน
วันนี้ (14 ส.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ว่า ภายหลังจากลงนามประกาศกระทรวงฯ 4 ฉบับ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523 คือ 1. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่อ 2. เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 3. เป็นโรคติดต่ออันตราย และ 4. ประกาศกำหนดประเทศเขตติดติดเชื้ออีโบลา ได้แก่ กินี เซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ไปแล้ว หากมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็จะมีผลบังคับใช้ในทันที โดยจะมีมาตรการเตรียมความพร้อม ซ้อมแผน และทบทวนกับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งในส่วนของด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกด่านทั้งทางบก ทางน้ำ ท่าอากาศยานนานาชาติ โรงพยาบาล โดยได้นำแผนเตรียมการสำหรับโรคระบาดมาปรับใช้ และจะมีการประชุมใหญ่เพื่อซักซ้อมแผน วันที่ 20 ส.ค.
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า มาตรการเตรียมพร้อมมีหลายระดับ เช่น หากพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจาก 4 ประเทศที่ถูกประกาศให้เป็นเขตติดโรค ระหว่างการเดินทางเข้าประเทศในเครื่องบิน ก็จะมีการกำหนดจุดจอด และจัดทีมนำตัวส่งโรงพยาบาล โดยกำหนดโรงพยาบาลไว้ ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร รพ.ราชวิถี และ รพ.นพรัตน์ราชธานี จากนั้นจะแยกกลุ่มคนที่เดินทางร่วมสายการบินเป็นผู้ที่สัมผัสใกล้ชิด ให้อยู่ในที่ใกล้ชิดสามารถติดตามอาการได้ และกลุ่มผู้โดยสารร่วมสายการบิน จะมีการให้ลงทะเบียนเพื่อแจ้งที่อยู่ที่ติดต่อได้ เป็นต้น
“ส่วนการเดินทางเข้าประเทศตามปกติจะมีการรายงานตัว ตรวจวัดอุณหภูมิที่ท่าอากาศยาน ด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อติดตาม 21 วันอยู่แล้ว และหากพบว่าในช่วง 21 วัน ผู้เดินทางเข้ามาอยู่ในข่ายเฝ้าระวังมีไข้ ก็จะนำตัวติดตามอาการในโรงพยาบาลทันที และแยกกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเพื่อติดตามอาการตามหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม การป้องกันโรคในกลุ่มแพทย์พยาบาล จะมีคู่มือเพื่อปฏิบัติอย่างชัดเจน ส่วนชุดป้องกันโรคจะใช้ชุดแบบกันน้ำ หรือกราวนด์กันน้ำ ก็ถือว่าเพียงพอ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) มีมาตรการและแนวทางแนะนำไว้” อธิบดี คร. กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่