xs
xsm
sm
md
lg

โยนสังคมถกสิทธิอุ้มบุญ “คู่รักข้ามเพศ” หวั่น กม.ห้ามทำเชิงพาณิชย์ เอื้อรับจ้างป่องใต้ดินคึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประมวล” โยนสังคมถกให้โอกาส “คู่รักข้ามเพศ” ทำอุ้มบุญหรือไม่ หากไร้ต้านพร้อมปรับข้อบังคับให้ครอบคลุม ด้านนักวิชาการหวั่นออก กม. ห้ามทำเชิงพาณิชย์ กระตุ้นวงการอุ้มบุญใต้ดินคึก ชี้ต้นเหตุต่างชาติแห่ทำในไทย แต่ไม่ฟันหากมี กม. เชิงพาณิชย์เหมาะสมสังคมไทยหรือไม่ แต่ระบุช่วยหญิงรับจ้างท้องได้รับการคุ้มครอง
ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน สูตินรีแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในฐานะอาจารย์แพทย์ผู้ให้กำเนิดเด็กผสมเทียมคนแรกของไทย กล่าวในเวทีอภิปราย เรื่อง “อุ้มบุญอย่างไร ไม่กระทบสิทธิ” จัดโดยสำนักงานคระกรรมการสิทธิมนุษยชน ว่า ขณะนี้ผู้ที่มีสิทธิใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งรวมถึงการอุ้มบุญด้วยนั้น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... อนุญาตแค่เพียงคู่สามีภรรยาที่ชอบโดยกฎหมาย ซึ่งมีภาวะมีบุตรยากเท่านั้น ส่วนบุคคลกลุ่มอื่น ได้แก่ ชายหรือหญิงที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากแต่งงาน ซึ่งมีความพร้อมทุกอย่าง คู่รักหญิงหญิงที่อยู่ด้วยกัน คู่รักชายชายที่อยู่ด้วยกัน และคนที่แปลงเพศมาแล้วแต่อยากมีบุตรนั้น เทคโนโลยีสามารถช่วยเหลือเขาได้ แต่สังคมก็ต้องมาพิจารณาว่าจะยอมรับได้หรือไม่ที่จะให้สิทธิ ซึ่งในอนาคตหากมีกฎหมายคู่สมรสที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ หากอยากมีบุตรแล้วสังคมยอมรับก็อาจมีการแก้ไขกฎหมายหรือปรับเกณฑ์ข้อบังคับของแพทยสภาให้เหมาะสมกับกลุ่มนั้นๆ อย่างเป็นธรรม

ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล กล่าวอีกว่า สำหรับหญิงตั้งครรภ์แทน ร่างกฎหมายฉบับใหม่ก็ระบุชัดเจนแล้วว่า มีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูลก่อนตั้งครรภ์ว่าจะมีความเสี่ยงกับโรคภัยไข้เจ็บขณะตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง รวมถึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการดูแลรักษาสุขภาพระหว่างการตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด เช่น ค่าเดินทางไปตรวจครรภ์ ค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงครรภ์ให้แข็งแรง ส่วนข้อกังวลเรื่องสิทธิในตัวของเด็กกฎหมายระบุชัดว่าจะต้องเป็นของคู่สามีภรรยาที่ประสงค์จะมีบุตร นั่นก็คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของเชื้ออสุจิและไข่นั่นเอง นอกจากจะเสียชีวิตก่อนที่เด็กคลอดหรือก่อนมารับตัวเด็ก หญิงตั้งครรภ์จึงมีสิทธิในการดูแลเด็กอุ้มบุญชั่วคราว จนกว่าภาครัฐจะหาครอบครัวที่เหมาะสมให้กับเด็กได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเป็นญาติ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหญิงที่ตั้งครรภ์แทนจึงควรเป็นญาติของคู่สามีภรรยา

ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล กล่าวว่า สำหรับเด็กอุ้มบุญที่คลอดออกมานั้นเขาก็ต้องมาดูว่าเขาควรมีสิทธิอะไรบ้าง เช่น ควรรับรู้หรือไม่ว่าใครเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง เพราะบางกรณีคู่สามีภรรยาอาจมีปัญหาที่ไม่สามารถใช้น้ำเชื้อหรือไข่ของตัวเองได้ ต้องขอรับบริจาค ก็ต้องมาดูในบริบทของครอบครัวว่าจะบอกให้เด็กรู้หรือไม่ว่าใครคือเจ้าของน้ำเชื้อหรือไข่ที่แท้จริง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาการอุ้มบุญจะไม่เกิดขึ้น หากดำเนินการตามกฎหมายและแพทย์ดำเนินการตามข้อบังคับของแพทยสภา ทั้งที่สังคมมอบวิชาชีพแพทย์ให้เป็นวิชาชีพที่มีเกียรติยศ แต่คนเป็นแพทย์ไม่คำนึงไม่รักในศักดิ์ศรี นำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่ผิด

นางสุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเป็นที่โต้แย้งในหมู่นักสตรีนิยมว่า หญิงตั้งครรภ์แทนสามารถรับจ้างได้หรือไม่ โดยฝ่ายนักสตรีนิยมแนวเสรีนิยมมองว่า ถือเป็นเรื่องที่ผู้หญิงสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะรับจ้างตั้งครรภ์หรือไม่ ไม่ใช่ให้รัฐเข้ามาแทรกแซงในร่างกายของผู้หญิง เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ส่วนอีกฝ่ายมองว่าการรับจ้างตั้งครรภ์เป็นการกดขี่ผู้หญิง และเอารัดเอาเปรียบ การตั้งครรภ์แทนตามพันธสัญญา หรือเป็นลักษณะการขายบริการที่เอาเปรียบ เห็นว่าไม่ควรมีกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำอุ้มบุญในเชิงพาณิชย์ได้

นางสุชาดา กล่าวอีกว่า ที่น่ากังวลคือร่างกฎหมายอุ้มบุญที่จะคลอดออกมานี้ ซึ่งเป็นลักษณะของการห้ามทำอุ้มบุญในเชิงพาณิชย์นั้น จะสามารถบังคับใช้ควบคุมได้จริงหรือไม่ มิเช่นนั้น ก็จะเกิดกระบวนการทำการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ใต้ดินขึ้น แต่หากมีกฎหมายอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ก็จะสามารถกำหนดสิทธิเพื่อคุ้มครองหญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์ได้ เช่นเดียวกับการณีการขายบริการทางเพศ เพราะเมื่อเป็นสิ่งผิดกฎหมายผู้ที่ทำอาชีพนี้ก็จะไม่ได้รับสิทธิคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยการออกกฎหมายต้องคำนึงถึงสถานการณ์ความเป็นจริงในสังคม คงไม่สามารถฟันธงได้ว่าควรออกกฎหมายอุ้มบุญเชิงพาณิชย์หรือไม่

จะเห็นได้ว่าชาติที่เข้ามาทำอุ้มบุญในไทย อย่าง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นเพราะประเทศของเขาแบนกฎหมายการอุ้มบุญเชิงการค้า จึงมาจ้างหญิงในประเทศกำลังพัฒนามาตั้งครรภ์แทน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังจะออกกฎหมายในลักษณะเช่นนี้” นางสุชาดา กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะหญิงตั้งครรภ์แทนจะเป็นการรับจ้างหรือไม่ แต่จะต้องได้รับความคุ้มครองด้วย โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้เทคโนโลยี เช่น การฉีดเร่งฮอร์โมน จนสุดท้ายอาจเกิดผลข้างเคียง ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์แทนควรมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารเพียงพอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ชำนาญการประจำคระกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่ถือว่าครอบคุลมปัญหาทั้งหมดแล้ว หากหญิงตั้งครรภ์แทนมีปัญหาสุขภาพจากการตั้งครรภ์แทน กฎหมายก็ระบุว่าคู่สามีภรรยาก็ต้องรับผิดชอบ ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ไม่เฉพาะค่ารักษาพยาบาลดูแลสุขภาพเท่านั้น ยังรวมค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส ที่ไม่สามารถทำงานได้ หรือขาดรายได้

นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะเน้นความคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำอุ้มบุญ ไม่ได้แตะเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้น ข้อกังวลหลายประการกฎหมายจึงครอบคลุม โดยเฉพาะข้อกังวลที่ว่าจะเกิดการทำอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ใต้ดินนั้น ตรงนี้อยู่ที่ตัวบุคคลและผู้บังคับใช้กฎหมาย คือไม่ใช่ว่ากฎหมายไม่ดี แต่อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการจริงจังหรือไม่

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น