xs
xsm
sm
md
lg

รู้ผลDNAเทียบ9ทารก อุ้มบุญ21รายฉีดเชื้อโดตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"หมอประมวล" โยนสังคมถกให้โอกาส "คู่รักข้ามเพศ" ทำอุ้มบุญหรือไม่ หากไร้ต้านพร้อมปรับข้อบังคับให้ครอบคลุม ด้านนักวิชาการหวั่นออก กม.ห้ามทำเชิงพาณิชย์ กระตุ้นวงการอุ้มบุญใต้ดินคึก แต่ไม่ฟันหากมี กม.เชิงพาณิชย์เหมาะสมสังคมไทยหรือไม่ แต่ระบุช่วยหญิงรับจ้างท้องได้รับการคุ้มครอง "หมอประมวล" ชี้ฉีดเชื้ออสุจิของพ่อญี่ปุ่น กับไข่หญิงรับตั้งครรภ์โดยตรง ผิดศีลธรรมและจริยธรรม แพทย์ กลายเป็นเครื่องมือทำชู้ให้ชาวบ้าน นิติเวชได้รับDNAหนุ่มญี่ปุ่นเจ้าของน้ำเชื้อแล้ว พร้อมนำตรวจเทียบทารก 9 คน บ่ายพรุ่งนี้รู้ผล

วันนี้ (19 ส.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล วีรุตมเสน สูตินรีแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ในฐานะอาจารย์แพทย์ผู้ให้กำเนิดเด็กผสมเทียมคนแรกของไทย กล่าวในเวทีอภิปราย เรื่อง "อุ้มบุญอย่างไร ไม่กระทบสิทธิ" จัดโดยสำนักงานคระกรรมการสิทธิมนุษยชน ว่า ขณะนี้ผู้ที่มีสิทธิใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งรวมถึงการอุ้มบุญด้วยนั้น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... อนุญาตแค่เพียงคู่สามีภรรยาที่ชอบโดยกฎหมาย ซึ่งมีภาวะมีบุตรยากเท่านั้น ส่วนบุคคลกลุ่มอื่น ได้แก่ ชายหรือหญิงที่อยากมีบุตรแต่ไม่อยากแต่งงาน ซึ่งมีความพร้อมทุกอย่าง คู่รักหญิงหญิงที่อยู่ด้วยกัน คู่รักชายชายที่อยู่ด้วยกัน และคนที่แปลงเพศมาแล้วแต่อยากมีบุตรนั้น เทคโนโลยีสามารถช่วยเหลือเขาได้ แต่สังคมก็ต้องมาพิจารณาว่าจะยอมรับได้หรือไม่ที่จะให้สิทธิ ซึ่งในอนาคตหากมีกฎหมายคู่สมรสที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ หากอยากมีบุตรแล้วสังคมยอมรับก็อาจมีการแก้ไขกฎหมายหรือปรับเกณฑ์ข้อบังคับของแพทยสภาให้เหมาะสมกับกลุ่มนั้นๆ อย่างเป็นธรรม

นางสุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเป็นที่โต้แย้งในหมู่นักสตรีนิยมว่า หญิงตั้งครรภ์แทนสามารถรับจ้างได้หรือไม่ โดยฝ่ายนักสตรีนิยมแนวเสรีนิยมมองว่า ถือเป็นเรื่องที่ผู้หญิงสามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะรับจ้างตั้งครรภ์หรือไม่ ไม่ใช่ให้รัฐเข้ามาแทรกแซงในร่างกายของผู้หญิง เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิการเจริญพันธุ์ของผู้หญิง ส่วนอีกฝ่ายมองว่าการรับจ้างตั้งครรภ์เป็นการกดขี่ผู้หญิง และเอารัดเอาเปรียบ การตั้งครรภ์แทนตามพันธสัญญา หรือเป็นลักษณะการขายบริการที่เอาเปรียบ เห็นว่าไม่ควรมีกฎหมายที่อนุญาตให้มีการทำอุ้มบุญในเชิงพาณิชย์ได้

นางสุชาดา กล่าวอีกว่า ที่น่ากังวลคือร่างกฎหมายอุ้มบุญที่จะคลอดออกมานี้ ซึ่งเป็นลักษณะของการห้ามทำอุ้มบุญในเชิงพาณิชย์นั้น จะสามารถบังคับใช้ควบคุมได้จริงหรือไม่ มิเช่นนั้น ก็จะเกิดกระบวนการทำการอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ใต้ดินขึ้น แต่หากมีกฎหมายอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ก็จะสามารถกำหนดสิทธิเพื่อคุ้มครองหญิงที่รับจ้างตั้งครรภ์ได้ เช่นเดียวกับการณีการขายบริการทางเพศ เพราะเมื่อเป็นสิ่งผิดกฎหมายผู้ที่ทำอาชีพนี้ก็จะไม่ได้รับสิทธิคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยการออกกฎหมายต้องคำนึงถึงสถานการณ์ความเป็นจริงในสังคม คงไม่สามารถฟันธงได้ว่าควรออกกฎหมายอุ้มบุญเชิงพาณิชย์หรือไม่

"จะเห็นได้ว่าชาติที่เข้ามาทำอุ้มบุญในไทย อย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นเพราะประเทศของเขาแบนกฎหมายการอุ้มบุญเชิงการค้า จึงมาจ้างหญิงในประเทศกำลังพัฒนามาตั้งครรภ์แทน ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยก็กำลังจะออกกฎหมายในลักษณะเช่นนี้" นางสุชาดา กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะหญิงตั้งครรภ์แทนจะเป็นการรับจ้างหรือไม่ แต่จะต้องได้รับความคุ้มครองด้วย โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพจากการใช้เทคโนโลยี เช่น การฉีดเร่งฮอร์โมน จนสุดท้ายอาจเกิดผลข้างเคียง ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์แทนควรมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารเพียงพอที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้ชำนาญการประจำคระกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่ถือว่าครอบคุลมปัญหาทั้งหมดแล้ว หากหญิงตั้งครรภ์แทนมีปัญหาสุขภาพจากการตั้งครรภ์แทน กฎหมายก็ระบุว่าคู่สามีภรรยาก็ต้องรับผิดชอบ

นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่จะเน้นความคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำอุ้มบุญ ไม่ได้แตะเรื่องเทคโนโลยี ดังนั้น ข้อกังวลหลายประการกฎหมายจึงครอบคลุม โดยเฉพาะข้อกังวลที่ว่าจะเกิดการทำอุ้มบุญเชิงพาณิชย์ใต้ดินนั้น ตรงนี้อยู่ที่ตัวบุคคลและผู้บังคับใช้กฎหมาย คือไม่ใช่ว่ากฎหมายไม่ดี แต่อยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะดำเนินการจริงจังหรือไม่

**คาดเด็กอุ้มบุญ 21 รายเกิดจากพ่อญี่ปุ่น

ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล กล่าวถึงกรณีพบเด็กอีก 21 คน ซึ่งมีชื่อเป็นพี่น้องในทะเบียนบ้าน ภายในคอนโดย่านลาดพร้าว คาดว่าน่าจะเกิดจากการทำอุ้มบุญของพ่อชาวญี่ปุ่น นายชิเกตะ มิตซูโตกิ วัย 24 ปี ซึ่งเป็นพ่อของเด็กอย่างน้อย 15 คน ซึ่งเกิดจากแม่อุ้มบุญชาวไทย ว่า การทำอุ้มบุญมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.การทำอุ้มบุญโดยใช้เชื้ออสุจิและไข่ของคู่สามีภรรยา มาผสมกันภายนอกแล้วฉีดเข้าไปให้แก่หญิงอีกคนที่รับตั้งครรภ์แทน และ 2.การใช้เชื้ออสุจิของฝ่ายสามีฉีดเข้าไปผสมกับไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนโดยตรง ทั้งนี้ โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่ากรณีเด็ก 21 คนที่มีอายุไล่เรียงกันเช่นนี้น่าจะเกิดจากการฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปผสมกับไข่ของหญิงรับตั้งครรภ์โดยตรงทีละคนๆ มากกว่า

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าการฉีดเชื้อเข้าไปผสมโดยตรงมีราคาที่ถูกกว่าและขั้นตอนง่ายกว่าการทำอุ้มบุญแบบเด็กหลอดแก้ว ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยาก ต้องรอให้มีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนภายนอกก่อนแล้วฉีดเข้าไปในช่องคลอดของหญิงรับตั้งครรภ์แทน แม้โอกาสการตั้งครรภ์โดยวิธีฉีดเชื้อโดยตรงจะมีเพียง 15% ก็ตาม จึงทำให้เด็กมีอายุไล่เรียงกันเป็นจำนวนมาก โดยค่าใช้จ่ายของการฉีดเชื้อโดยตรงอยู่ที่หลักพันถึงหลักหมื่น แต่การทำอุ้มบุญโดยการปฏิสนธิภายนอกก่อนราคาแสนบาทขึ้นไป

"การอุ้มบุญด้วยการฉีดเชื้อโดยตรงเข้าไปผสมกับไข่ของหญิงรับตั้งครรภ์แทน หากเปรียบเทียบกันแล้วก็เหมือนใช้แพทย์ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการมีชู้ คือมีลูกกับผู้หญิงคนอื่น โดยไม่ได้มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเป็นข้อห้ามสำหรับแพทย์ เพราะผิดมารยาท ผิดศีลธรรม" ศ.กิตติคุณ นพ.ประมวล กล่าว

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สามารถยืนยันได้ว่า พ่อของเด็กเป็นชาวญี่ปุ่นจริง แต่จะเป็นการทำให้หญิงตั้งครรภ์ด้วยวิธีเด็กหลอดแก้ว หรือ ฉีดน้ำเชื้อเข้าไปโดยตรงเลยนั้น จะสามารถทราบได้ชัดเจนคือ การสอบสวน นพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล แพทย์ของคลินิกออล ไอ.วี.เอฟ. และสอบถามจากแม่อุ้มบุญ ซึ่งขณะนี้ต้องรอให้เจ้าหน้าที่สืบหาหลักฐานและตามตัว นพ.พิสิฐ ให้ได้ก่อน เพื่อลงโทษในเชิงจริยธรรมและใบอนุญาตต่อไป และไม่ว่าจะเป็นการฉีดน้ำเชื้อโดยตรง หรือ การนำไข่และน้ำเชื้อ ใส่ในแม่อุ้มบุญก็ถือว่าผิดเช่นเดียวกัน

***'นิติเวช'คาดตัวDNAเทียบ9ทารกรู้ผลวันนี้

วันนี้ (19 ส.ค.)ที่สถาบันนิติเวชวิทยา พ.ต.อ.วาที อัศวุตมางกุร นักวิทยาศาสตร์ (สบ4) ด้านดีเอ็นเอ กล่าวว่า วันนี้ ตนได้รับเซลล์เหยื่อบุกระพุ้งแก้ม ของนาย ชิเกตะ มัตซึโตกิ พ่ออุ้มบุญชาวญี่ปุ่น อายุ 24 ปี ซึ่งการที่นำเซลล์ดังกล่าวมาพิสูจน์นั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีหลักฐานเป็นคลิปวิดีโอที่ชัดเจนขณะเก็บเซลล์และมีการรับรองจากเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่น

พ.ต.อ.วาที กล่าวอีกว่า จะนำดีเอ็นเอ ของนายชิเกตะที่ได้มา ไปทำการตรวจสอบเปรียบเทียบกับเด็กทั้ง 9 คน ซึ่งผลของการตรวจดีเอ็นเอของเด็กทั้ง 9 คนนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บไว้ล่วงหน้าแล้ว และผลของการตรวจสอบเปรียบเทียบระหว่างนายชิเกตะ และเด็กทั้ง 9 คนจะทราบผลในช่วงบ่ายของวันพรุ่งนี้ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่

** ตร.โต้สื่อเสนอข่าวบิดเบือนคดีอุ้มบุญ

วันเดียวกัน ที่สน.ลาดพร้าว พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 แถลงข่าวหลังจากได้รับหลักฐานคือตัวอย่างดีเอ็นเอที่อ้างว่าเป็นของนายชิเกตะ มิตซูโตกิ จากนายก้อง สุริยมณฑล ผู้รับมอบอำนาจจากนายชิเกตะ ว่า ขณะนี้ทางพนักงานสอบสวนได้ส่งตัวอย่างดีเอ็นเอให้กับเจ้าหน้าที่ของทางนิติเวช สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อตรวจเปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการประชุมและได้แถลงข่าวไปแล้วปรากฏว่ามีสื่อเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งและโทรทัศน์บางช่อง ได้ระบุข้อความว่า "มีความชัดเจนว่าหญิงไทย 9 คนที่รับจ้างอุ้มบุญนั้นได้ไปทำการฝังตัวอ่อนในครรภ์จาก นพ.พิสิฐ ตันติวัฒนากุล ที่คลินิก ออล ไอวีเอฟ" ซึ่งตรงนี้ตนขออนุญาตปฏิเสธว่า คำที่พูดดังกล่าวตนไม่ได้เป็นคนพูด เเละตนก็ได้ทราบจากนักข่าวที่เป็นคนเขียนคำนี้แล้ว โดยข้อความนี้นักข่าวทราบจากแหล่งข่าว ขณะที่เขียนข่าวนั้นมีการย่อหน้า เว้นวรรค ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นคำพูดที่ตนพูด ซึ่งจริงๆแล้วตนขอปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นคนพูด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ชี้แจงเสร็จก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลต่างๆเพิ่มเติมและเดินกลับออกไปทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น