xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราชชี้ รักษามีลูกยาก ไม่จำเป็นต้อง “อุ้มบุญ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รพ.ศิริราช เปิดบ้านหน่วยรักษาผู้มีบุตรยาก เผยขั้นตอนการทำเริ่มจากฉีดเชื้อกระตุ้นก่อน ค่อยทำเด็กหลอดแก้ว หากไม่ได้ผลจึงใช้วิธีอุ้มบุญ ย้ำชัดต้องมีจริยธรรม สบส. ชี้ไม่จำเป็นต้องทำ “อุ้มบุญ” รักษาการมีบุตรยาก คาดทารก 21 ราย เกี่ยวข้องเด็กอุ้มบุญ 9 รายแรก เร่งประสานข้อมูลตำรวจคลินิกใดรับทำ

วันนี้ (15 ส.ค.) น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมคณะเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมหน่วยผู้มีบุตรยาก รพ.ศิริราช ซึ่งเป็นสถานที่ให้การรักษาผู้มีบุตรยาก โดยมีการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ตามเกณฑ์มาตรฐานของแพทยสภา

ทั้งนี้ รศ.นพ.เรืองศิลป์ เชาวรัตน์ หัวหน้าหน่วยผู้มีบุตรยาก ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า หน่วยฯ ได้ให้คำปรึกษากับคู่สามีภรรยาที่ต้องการรักษาการมีบุตรยาก โดยตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ารับการรักษา 2 - 3 หมื่นราย พบแนวโน้มการมีบุตรยากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ด้วยวิธีอุ้มบุญ ได้ให้บริการปี 2553 จำนวน 3 ราย ปี 2554 - 2556 ปีละ 1 ราย ซึ่งการทำอุ้มบุญไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องคำนึงถึงจริยธรรมอย่างสูง เพราะการให้ผู้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนมีความเสี่ยงและมีข้อควรระวังทางจริยธรรมมาก

รศ.นพ.เรืองศิลป์ กล่าวว่า หน่วยฯ จะให้คำปรึกษาก่อน โดยวิธีการรักษาจะทำตามขั้นตอน 3 วิธี โดยวิธีแรกจะฉีดเชื้อกระตุ้น เพราะการวิจัยพบว่าช่วยเพิ่มโอกาสตั้งครรภ์ 30% โดยจะทำอย่างน้อย 3 ครั้ง หากไม่สำเร็จจะใช้วิธีที่สองคือการทำเด็กหลอดแก้ว 6 ครั้ง หากยังไม่สำเร็จ จึงจะพิจารณาการทำอุ้มบุญ แต่บางกรณีหากพยาธิสภาพของมดลูกมีปัญหา เช่น เกิดเนื้องอกจนมดลูกโครงสร้างเสียไป หรือ ไม่มีมดลูก ก็ถือว่าไม่สามารถทำการรักษาการมีบุตรยากด้วยวิธีอื่นได้​

“ก่อนที่จะทำการอุ้มบุญ หน่วยฯ ได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ของแพทยสภาอย่างเคร่งครัด หรือมีข้อปฏิบัติที่มากกว่า ทั้งการพิสูจน์ไข่และเชื้อให้ตรงกับผู้ต้องการมีบุตร และระมัดระวังอันตรายกับหญิงที่จะรับตั้งครรภ์แทน โดยจะมีการรายงานต่อแพทยสภา และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยทุกครั้ง ซึ่งแต่ละปีมีผู้ต้องการอุ้มบุญแต่ไม่สามารถทำได้กว่าร้อยราย เกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการหาญาติอุ้มบุญแทนไม่ได้ เช่น คู่สามีภรรยา เป็นลูกคนเดียว เป็นต้น ซึ่งอาจต้องพิจารณาถึงการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว” รศ.นพ.เรืองศิลป์ กล่าวและว่า เชื่อว่า ในอนาคตเกณฑ์ของแพทยสภา อาจจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือ เข้มงวดมากขึ้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม การทำอุ้มบุญจำเป็นต้องยึดเรื่องจริยธรรม มิฉะนั้นจะกลายเป็นการอุ้มบาป เพราะการตั้งครรภ์แต่ละครั้งมีความเสี่ยงกับผู้ตั้งครรภ์เอง

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า การรักษาผู้มีบุตรยากนั้นมีกระบวนการ และจำเป็นต้องมีมาตรฐานวิชาการ ข้อบ่งชี้ทางจริยธรรม ซึ่งปัจจุบันมีหลายวิธีไม่จำเป็นต้องใช้วิธีอุ้มบุญเสมอไป ซึ่งเชื่อว่าแพทย์ทราบดีถึงข้อบ่งชี้ ที่จะสามารถให้การรักษาด้วยวิธีนี้ได้ หากทำผิดตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพก็ต้องดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป

เมื่อถามถึงทารกอีก 21 ราย ในคอนโดย่านลาดพร้าว แห่งเดียวกับเด็กทารก 9 ราย ที่คาดว่าเกิดจากการอุ้มบุญโดยพ่อชาวญี่ปุ่น น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ขณะนี้กำลังติดตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ โดยต้องสอบสวนหญิงที่ดูแลเด็กเพื่อนำข้อมูลของสถานพยาบาลมาเพิ่มเติมว่า เป็นการทำจากสถานพยาบาลใด ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับกรณีเด็กทารก 9 ราย และสถานพยาบาลที่ทำให้เด็กทารก 9 รายด้วย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น