xs
xsm
sm
md
lg

ลูกแรงงานต่างด้าวกว่า 2.5 แสนคนขาดโอกาสเรียนหนังสือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คาดลูกแรงงานต่างด้าว กว่า 2.5 แสนคน ไม่ได้รับโอกาสการศึกษา หรือหากได้เรียนก็จะเจอปัญหาออกกลางคัน ทั้งต้องย้ายตามพ่อแม่ หรือพ่อแม่กลัวถูกส่งกลับประเทศ จึงไม่ให้เรียนต่อ รวมไปถึงถูกเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ชี้ “ภาษา” เป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนของเด็กต่างด้าวกับครูผู้สอน ด้าน เลขาธิการกะเหรี่ยงฯ จี้ สพฐ. วางแนวทางการศึกษาสำหรับเด็กต่างด้าวให้ชัด อย่าปล่อยให้เรียนไปวันๆ โดยที่ไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะต่อไปทางไหน หรือการศึกษาสำคัญอย่างไร

วันที่ (23 ก.ค.) ที่อาคาร IBM สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สถาบันรามจิตติ จัดเสวนาจับกระแสความเคลื่อนไหวและนวัตกรรมการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน (INTREND) เรื่อง จับกระแสยุทธศาสตร์การศึกษาสำหรับลูกแรงงานต่างด้าว : ประสบการณ์จากนานาประเทศและบทเรียนสำหรับประเทศไทย ภายในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมี ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์ ผอ.สถาบันรามจิตติ กล่าวว่า เวลานี้ไทยยังขาดข้อมูลที่ชัดเจนว่าแรงงานต่างด้าวมีจำนวนเท่าไหร่ และลูกแรงงงานต่างด้าวอยู่ตรงไหนในมิติทางการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันรามจิตติ พบเด็กด้อยโอกาสกว่า 5 ล้านคน วนเวียนอยู่ในการศึกษาไทย โดยได้มีการประมาณว่ามีเด็กลูกแรงงานต่างด้าวที่ยังเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา 2.5 แสนคนเป็นอย่างน้อย ยังไม่นับเด็กไร้สัญชาติอีกกว่า 2 - 3 แสนคน ซึ่งปัญหาของเด็กลูกแรงงานต่างด้าวมีปัญหาที่หลากหลาย ตั้งแต่การไม่รู้หนังสือ ไม่มีโอกาสเรียนทั้งในแบบไทยหรือในแบบของวัฒนธรรรมตนเอง ปัญหาการออกกลางคัน เนื่องจากต้องการเคลื่อนย้ายตามพ่อแม่หรือเนื่องจากสถานะทางกฎหมายที่ทำให้พ่อแม่หวาดกลัวที่จะให้ลูกเรียนต่อ ปัญหาสุขภาพอนามัยไปจนถึงปัญหาการถูกบังคับค้าแรงงานและเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์

ผอ.สถาบันรามจิตติ กล่าวต่อว่า ในต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการผลักดันให้การศึกษาแก่ลูกแรงงานต่างด้าว โดยมีกฎหมายรองรับและเชื่อมโยงกับกฎหมายด้านการศึกษา ซึ่งเด็กทุกตนต้องได้รับสิทธิ์ โอกาสทางการศึกษา ไม่ว่าจะเข้าประเทศโดยถูกหรือผิดกฎหมาย เช่น ประเทศเบลเยี่ยม มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิลูกแรงงานต้างด้าวแม้จะเข้ามาอย่างผิดฎหมายให้ได้รับการศึกษา, อิตาลี มีการประกันโอกาสการศึกษาของลูกแรงงานต่างด้วย, เนเธอร์แลนด์ เด็กทุกคนต้องมีที่เรียนตามข้อบังคับกฎหมาย โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษารับเด็กเข้าเรียนโดยห้ามตรวจสอบสถานะทางกฎหมายของเด็กจนกกว่าจะอายุ 18 ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สื่อพื้นฐานที่สำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้ของลูกแรงงานต่างด้าวประสบความสำเร็จ คือ ภาษา เพราะที่ผ่านมาพบว่าเป็นอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างครูกับเด็ก ถือเป็นกำแพงที่ต้องก้าวข้ามรวมถึงต้องปรับความคิดของพ่อแม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าวให้เห็นความสำคัญของการส่งลูกเข้าเรียน เพราะหลายคนยังมีอคติ กลัวว่าเมื่อส่งลูกเข้าไปเรียนแล้วจะถูกตรวจสอบสถานะและส่งตัวกลับประเทศของตนเอง

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRL) กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ลูกแแรงงานต่างด้าวไม่เข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะพ่อแม่ต้องการให้ลูกช่วยทำมาหากินมากกว่าที่จะส่งลูกเข้าเรียน ขณะเดียวกันระบบการศึกษา ก็มีปัญหาในเรื่องของการจัดส่งหรือเชื่อมต่อเด็กระหว่างโรงเรียนกับโรงเรียน อีกทั้งมีการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อมีการย้ายสถานศึกษาก็จะเกิดผลกระทบในเรื่องของเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบการศึกษาเพราะโรงเรียนเก่าจะไม่ส่งรายชื่อไปยังโรงเรียนใหม่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน รวมถึงครูส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจภาษาถิ่นของเด็ก จนส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้ อยากให้ทบทวนเรื่องหลักสูตรที่จะนำไปใช้สอนลูกแรงงานต่างด้าว เพราะหลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบันเด็กไทยยังไม่สามารถเรียนได้ แล้วเด็กต่างด้าวที่ไม่รู้ภาษาไทยจะเรียนเข้าใจได้อย่างไร และได้อะไรจากระบบการศึกษานี้

ขณะที่ นายเกรียงไกร ชีช่วง เลขาธิการเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการถอดบทเรียน ในพื้นที่อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี พบว่าลูกแรงงานต่างด้าว จะเรียนจบเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะส่วนใหญ่ที่ต้องออกกลางคัน เพราะไม่มีแรงจูงในในการเรียนศึกษาต่อ อีกทั้งมีข้อจำกัดคือออกนอกพื้นที่ไม่ได้ และมีปัญหาเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ทำให้พ่อแม่แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ไม่ให้ลูกเรียนหนังสือ และต้องไปเป็นแรงงานก่อนวัยอันควร ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากไม่มีนโยบายผลักดันด้านการศึกษาที่ชัดเจน เพราะต่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดให้เด็กต่างด้าวเข้าเรียน แต่เป็นการเรียนไปวันๆ ไม่มีการส่งเสริมให้เด็กรู้ว่าเรียนแล้วจะไปต่อไปไหน การศึกษามีความสำคัญอย่างไร
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น