วงเสวนา มธ. มั่นใจ U-NET กลับมาแน่ เลื่อนสอบแค่ซื้อเวลา ติง สทศ.ไม่รู้จักบทบาทตนเองคืออะไร แนะทบทวนผลงานที่ทำพร้อมสร้างมาตรฐานให้ได้ก่อน ขณะที่หากจะจัดสอบในอนาคตต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ ด้าน แอดมินเพจต้าน U-NET สทศ. แจงไม่ยื่น 5 หมื่นรายชื่อให้ สทศ.หรือ ศธ.ย้ำรายชื่อที่ได้ไม่สูญเปล่าเพราะช่วยสร้างแรงกดดันจนการสอบเลื่อนไม่มีกำหนด ยันจับตาดูต่อไป
วันนี้ (10 พ.ค.) ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเสวนาเรื่อง "ถอดบทเรียน U-NET กับอนาคตประเทศไทย" โดยมีนักวิชาการจาก มธ. นักศึกษาและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมประมาณ 30 คน โดย นางทวิดา กมลเวช อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวตอนหนึ่งว่า เชื่อว่าการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ระดับอุดมศึกษาหรือ U-NET กลับมาแน่นอน เห็นได้จากเหตุผลที่ สทศ. บอกว่าเลื่อนสอบ U-NET อย่างไม่มีกำหนด เพราะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ยังไม่ต้องการใช้ ซึ่งหาก สทศ. จะกลับมาจัดสอบ U-NET อีกต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ อาทิ สอบเพื่ออะไร และจะวัดคุณภาพนักศึกษาได้ตรงจริงหรือไม่
นายวัชระ สินธุประมา อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มธ. ผู้ศึกษาเกี่ยวกับ U-NET กล่าวว่า ตนเชื่อว่า สทศ. ไม่สนใจเสียงค้านและกระแสต่อต้านของนิสิต นักศึกษา จนทำให้ต้องยกเลิกการจัดสอบ U-NET แต่เสียงที่ทำให้ความสนใจจริงๆ คือ สมศ. สกอ. และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่บอกว่ายังไม่ต้องการใช้ U-NET ดังนั้น หาก สทศ. เดินสายคุยกับกลุ่มดังกล่าวได้ U-NET ก็จะกลับมา
“การที่ U-NET จะกลับมาได้ สทศ. ก็ต้องทำตัวเองให้เองให้มีน้ำยา ให้มหาวิทยาลัยหรือคณะที่จะต้องสอบเห็นความจำเป็น เช่น เด็กที่จบด้านศิลปศาสตร์ จะสามารถนำคะแนน U-NET ไปใช้ทำอะไรได้บ้าง” นายวัชระ กล่าว
นายยุกติ มุกดาวิจิตร ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาไทยอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา มธ. กล่าวว่า การจัดสอบ U-NET ยังไม่จบแน่ เป็นเพียงการเลื่อนไปเท่านั้น กลุ่มที่คัดค้านคงต้องเตรียมตั้งรับต่อ เพราะเท่าที่ดูจากการออกมาชี้แจงของ ศ.(กิตติคุณ) ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ. ก็ทำให้รู้ทัศนคติที่คิดว่า สทศ. มีอำนาจในการจัดสอบ แต่ตนคิดว่า สทศ. ยังไม่รู้ว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร สิ่งที่ สทศ. ต้องทำคือไปทบทวนการจัดสอบที่ผ่านมาทั้งการจัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET และการจัดสอบอื่นๆ ที่จัดอยู่ให้มีคุณภาพก่อน เพราะก็ยังมีข้อผิดพลาดอยู่
“สทศ. ควรจะหาอะไรที่สร้างสรรค์ทำ ไม่ใช่บอกว่าจะต้องทำการทดสอบระดับอุดมศึกษาตามมกฎหมาย โดยหากจำเป็นต้องมีการวัด ก็ต้องเลือกว่าควรจะวัดอะไร เช่น ทำการทดสอบภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ต้องไม่ใช่การบังคับ และทำให้ได้มาตรฐาน มหาวิทยาลัยบางแห่งหรือบางหน่วยงานก็อาาจเลือกนำคะแนนสอบจาก สทศ. ไปใช้ หากสทศ. ทำแบบนี้จะมีที่ยืนในสังคม เพราะเชื่อว่าอนาคตบทบาทของ สทศ. จะลดลงเรื่อยๆ อย่างโอเน็ต ตอนนี้ในคณะของผมก็เลือกใช้รับนักเรียนเข้าศึกษาต่อแค่ในบางสาขาวิชาเท่านั้น” นายยุกติ กล่าว
ขณะที่ ผู้ดูแลเพจ หรือ แอดมิน กลุ่มต่อต้าน U-NET จาก สทศ. กล่าวว่า ทางกลุ่มคงไม่เสนอรายชื่อ 50,000 ชื่อ เพื่อคัดค้านการสอบ U-NET ต่อ สทศ. และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะการที่ สทศ. หยุดจัดสอบ U-NET แสดงว่ารับฟังเสียงกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยระดับหนึ่ง และไม่คิดว่าการรวบรวมรายชื่อเสียเปล่าอย่างน้อยก็เป็นแรงกดดัน สทศ. โดยจากนี้จะจับตาและพยายามให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะคิดว่า สทศ. จะต้องจัดสอบ U-NET ต่อแน่นอน
ด้าน นายชัยวัฒน์ มีสันฐาน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในอาเซียน กล่าวว่า เหตุการณ์คัดค้านการสอบ U-NET ที่เกิดขึ้น ทำให้มีคำถามว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อโดยตรงทั้ง สมศ. สกอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่คุยกัน หรือวิพากษ์วิจารณ์ก่อนจัดสอบ ขณะเดียวกัน ตัว สทศ .เองก็ไม่สามารถตอบคำถามถึงความจำเป็นที่ต้องจัดสอบกับใครได้เลย ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ สทศ.จะดื้อทำต่อไป