xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ยื่น คสช.สางปม สธ.สั่งห้าม รพ.สังฆกรรม สปสช.“หมอวชิระ” แจงยกเลิกคำสั่งแล้ว เหตุได้ข้อยุติจัดสรรงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาคปชช.ยื่น คสช. สางปัญหา สธ. ออกหนังสือสั่ง สสจ. ผอ.รพ. ห้ามสังฆกรรม สปสช. ระบุกระทบโรงพยาบาลและประชาชน ด้าน รองปลัด สธ. แจงให้ชะลอการทำนิติกรรมเฉพาะเรื่องงบเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ยันไม่เกิดผลกระทบตามที่กล่าวอ้าง เผยประชุมร่วม สปสช. แล้ว ได้ข้อยุติเรื่องการจัดสรรงบปี 2557 ชัดเจน สั่งยกเลิกหนังสือคำสั่งแล้ว
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม
วันนี้ (18 ก.ค.) น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา ตนได้เข้ายื่นหนังสือต่อทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกหนังสือไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ไม่ให้ร่วมกิจกรรม และจัดทำข้อตกลงใดๆ กับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจากมองว่าเป็นการออกคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง และส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อหน่วยบริการและประชาชนในฐานะผู้รับบริการรักษาพยาบาล ซึ่ง พล.ร.ต.นพดล เรืองสมัย รองหัวหน้าสำนักงานฝ่ายสังคมจิตวิทยา คสช. เป็นผู้รับมอบหนังสือ

น.ส.บุญยืน กล่าวอีกว่า สธ. อ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าว เพราะต้องการให้มีการหารือความชัดเจนกับทาง สปสช. ก่อน เพื่อปฏิรูปงานในระบบสาธารณสุข แต่พวกตนมองว่า หาก สธ. จะเดินหน้าปฏิรูประบบก็ควรดำเนินไป แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่องาน ซึ่งขณะนี้ทราบว่า หนังสือฉบับดังกล่าวทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่เหลือระยะเวลาอีกเพียง 3 เดือนต้องหยุดชะงักลง สำหรับผลกระทบการทำงานในพื้นที่ที่เห็นชัดเจนคือ ปกติจะมีคณะกรรรมการทำงานร่วมกัน 3 ชุด คือ 1. คณะกรรมการบริหารระดับจังหวัด ซึ่งมี สสจ. ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ 2. คณะกรรมการควบคุมคุณภาพ และ 3. คณะกรรมการเยียวยาตามมาตรา 41 ทั้งหมดไม่สามารถเดินหน้าได้ โดยเฉพาะคณะกรรมการเยียวยาตามมาตรา 41 ในการจ่ายเยียวยาเบื้องต้นให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งผู้ป่วยและญาติต่างเดือดร้อนรอความช่วยเหลือนี้อยู่

“หลังจากที่ พล.ร.ต.นพดล ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นรู้สึกตกใจมาก เห็นว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน และจะรีบนำเสนอเรื่องนี้ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. โดยเร็ว ซึ่งจากนี้คงต้องรอว่าทาง คสช. จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร นอกจากนี้ คสช. ยังได้หารือถึงกรณีที่ สธ. มีหนังสือทักท้วงไปยัง สปสช. ถึงการออกประกาศหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายงบกองทุนสุขภาพตำบล ซึ่งเป็นงบส่งเสริมป้องกันโรค ที่สร้างความตื่นตัวให้กับท้องถิ่นและประชาชนไม่อยากให้ปรับเปลี่ยนกองทุน และกรณีข้อเสนอร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ด้วย โดย พล.ร.ต.นพดล ยืนยันว่า คสช. ไม่ได้มีมติในเรื่องนี้ ซึ่งในวันนั้นก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ไม่มีการรับข้อเสนอนี้แต่อย่างใด” น.ส.บุญยืน กล่าว

ด้าน นพ.วชิระ กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนบทบาทระหว่างผู้จัดบริการและผู้ซื้อบริการ จึงออกหนังสือดังกล่าวเพื่อให้ นพ.สสจ. หรือ ผอ.รพ. ในสังกัด สธ. พิจารณาว่าการจัดกิจกรรมร่วมกันใดๆ ต้องเป็นลักษณะไม่ผูกมัด และให้ชะลอการทำนิติกรรมไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อยุติ ในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณปี 2557 ซึ่งมีทั้งหมด 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. งบเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่หน่วยบริการขาดสภาพคล่อง 2. งบค่าเสื่อม และ 3. การพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มรายการยารักษามะเร็งใหม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ประเด็นเรื่องของการรักษาพยาบาล หรือการให้บริการประชาชนยังคงสามารถเดินหน้าได้ ไม่ได้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วยอย่างที่กล่าวอ้าง ทั้งนี้ วันนี้ (18 ก.ค.) สธ. ได้หารือร่วมกับ นพ.พีระพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการ สปสช. ทั้ง 3 ประเด็นไปแล้ว และได้ข้อยุติที่ชัดเจน จึงชี้แจงให้ทาง สปสช. ทราบแล้วว่า สธ. จะออกคำสั่งยกเลิกหนังสือดังกล่าว ส่วนหนังสืออย่างเป็นทางการจะส่งตามไปในภายหลัง

นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า ประเด็นเรื่องงบเงินเดือนในพื้นที่ขาดสภาพคล่อง ซึ่งปัญหามาจากหน่วยบริการพื้นที่ห่างไกลหรือจังหวัดเล็กที่ได้รับงบประมาณายหัวน้อย แต่ต้องถูกหักเป็นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ถึง 60% จนงบการจัดบริการไม่เพียงพอนั้น ขณะนี้ สธ. และ สปสช. ตกลงกันได้ว่า จะนำงบเงินเดือนที่ สธ.กันไว้ปรับเกลี่ยในระดับเขต ร้อยละ 3 ของเงินเดือนทั้งหมด ประมาณ 360 ล้านบาท และงบเงินเดือนของ สปสช. จำนวน 1,200 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้นำไปใช้เป็นเงินเดือนในการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการ 7,547 ตำแหน่งตามแผนมาใช้แก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้ได้มอบให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ร่วมกับ สปสช. จัดทำข้อมูลเสนอสำนักงบประมาณ เพื่อนำเงินส่วนนี้มาจัดสรรให้กับหน่วยบริการแล้ว รวมเป็นเงิน 1,560 ล้านบาท

นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องงบค่าเสื่อม ซึ่งจะใช้ในการจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ สิ่งก่อสร้างทดแทนของเดิมที่ชำรุด แต่จะมีการนำมาใช้สร้างบ้านพักแพทย์นั้น เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ท้วงติง ทำให้ปีงบประมาณ 2556 เหลือเงิน 100 กว่าล้านบาท และงบปี 2557 ประมาณ 1,000 ล้านบาท จากการหารือแนวทางแก้ไขจะให้ทุกแห่งปรับแผนการใช้เงินให้ถูกต้องตามระเบียบการใช้เงิน โดยงบค่าเสื่อมในปี 2556 ให้ทุกเขต ทุกจังหวัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน ส.ค. นี้ หากติดขัดในรายการก่อสร้างให้ปรับเป็นการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ทดแทน แล้วแจ้งแผนให้ สปสช. จัดโอนเงินไป ส่วนงบปี 2557 ให้ดำเนินการต่อไปตามหลักเกณฑ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 ก.ย. 2558 สำหรับเงินในบัญชี 6 และ 7 ที่จัดส่งให้จังหวัดเพื่อใช้ในการจัดทำแผนงาน/โครงการส่งเสริมป้องกันโรค และบริหารจัดการภายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ในส่วนบัญชี 6 ให้ผูกพันงบประมาณในแผนงาน/โครงการให้เสร็จภายใน ก.ย. 2557 และใช้ให้หมดภายใน ก.ย. 2558 โดยให้มีทีมนักบัญชี ทั้ง สปสช. และ สธ. ร่วมกันวางแผนดำเนินงาน ส่วนบัญชี 7 จะส่งไปให้จังหวัดเช่นเดิม แต่ปรับให้ถูกต้องตามระเบียบเป็นบัญชีของ สสจ. โดยใช้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำไปใช้ในการบริหารจัดการในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ

นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า ประเด็นยามะเร็งใหม่ ถือว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะเป็นการพิจารณาเพิ่มสิทธิประโยชน์ ในปีงบประมาณ 2558 ที่ประชุมยังไม่ได้หารือกัน เนื่องจากต้องผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์และคณะอนุกรรมการการเงินการคลัง ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งทุกคนยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนในปี 2557
 
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น