xs
xsm
sm
md
lg

อัด"ประเวศ" ระบอบทักษิณในสธ. แฉชงตั้งกองทุนเอง รับเงินเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16 ก.ค.) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ จริงๆ ก็มีการกำหนดให้ร่วมจ่ายอยู่แล้ว แต่เป็นไปในลักษณะของความสมัครใจ ซึ่งความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวว่า ควรมีการร่วมจ่ายหรือไม่นั้น จนกลายเป็นข้อถกเถียงอยู่ในขณะนี้ เชื่อว่าเกิดจากความแตกต่างของข้อมูลในมือของแต่ละฝ่าย แต่ความคิดของแต่ละฝ่ายต่างก็เหมือนกัน คืออยากเห็นระบบสุขภาพที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการเงินการคลังนี้ ถือเป็นเพียงเรื่องย่อยเรื่องหนึ่งเท่านั้น การปฏิรูประบบสุขภาพ จะต้องมองในภาพกว้างและเป็นองค์รวมมากกว่าเรื่องนี้

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 เรื่องการ "การปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย" อันเป็นการระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั้น ระบุชัดว่า หลักการ ทิศทาง และแนวทางในการปฏิรูประบบสุขภาพ มีทั้งหมด 5 ประเด็น คือ 1.การปฏิรูประบบสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการจัดการกับภัยคุกคามสุขภาพ 2. การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ 3. การปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ 4. การปฏิรูประบบการเงินการคลัง และระบบหลักประกันด้านสุขภาพ และ 5. การปฏิรูปการอภิบาลระบบสุขภาพและการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

"การปฏิรูประบบสุขภาพ จะเดินหน้าเพียงหน่วยงานเดียวอย่าง สธ.ไม่ได้ ซึ่งเป็นการบริหารจัดการหรือการอภิบาลโดยรัฐ แต่ต้องให้คนไทยทุกภาคส่วนมีโอกาสได้ร่วมคิด ร่วมนำ ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบด้วย เป็นการอภิบาลแบบเครือข่าย เพราะระบบสุขภาพ เกี่ยวข้องกับชีวิตตนเองตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งเรื่องการแพทย์ การสาธารณสุข และการสร้างสุขภาวะ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปฏิรูประบบสุขภาพ และพัฒนามาตามลำดับ ตัวอย่างเรื่องอภิบาลโดยเครือข่ายที่เห็นได้ชัด คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ดังนั้น สธ. ต้องลดบทบาทการจัดการเองทุกเรื่องแบบรวมศูนย์อำนาจในอดีตลง แต่หันมาเอื้ออำนวยระบบสุขภาพแห่งชาติ เชื่อมประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันมากกว่า เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ปัญหาสุขภาพนั้นยุ่งยากสลับซับซ้อนเกินกว่ากระทรวงฯ จะบริหารจัดการเองโดยลำพังได้แล้ว" นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การปฏิรูปของ สธ.ที่พยายามดำเนินการอยู่ขณะนี้ มีสิ่งใดที่ต้องปรับหรือไม่ นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า การเดินหน้าปฏิรูปของ สธ. เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่างเรื่องเขตบริการสุขภาพ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่วิธีการในการทำจะต้องเป็นไปในลักษณะการอภิบาลโดยเครือข่ายจริงๆ ไม่ใช่ยังอยู่ในอำนาจของ สธ. อยู่ ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลในเรื่องนี้ และยังเป็นการข้ามอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย โดยคณะกรรมการบริหารจัดการในเขตจะต้องมาจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้มีส่าวนได้ส่วนเสีย ท้องถิ่น นักวิชาการ ส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำแผนการบริหารจัดการในเขต

ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า อยากให้ สธ.พิจารณานำข้อเสนอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ไปหาทางขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิรูประบบสุขภาพ โดยอีกประมาณ 2 สัปดาห์ สช.จะจัดเวทีประชุมปรึกษาหารือในเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพขึ้น ซึ่งจะเชิญตัวแทนทั้งฝั่ง สธ. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หน่วยงานที่ทำงานด้านสุขภาพทั้งหมดมาปรึกษาหารือกัน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และหาแนวทางในการขับเคลื่อนมติการปฏิรูประบบสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ลดความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศปรองดองในขณะนี้
ขณะที่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะออกมายอมรับว่าเป็นผู้เสนอเรนื่องร่วมจ่ายต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น แต่ นพ.ณรงค์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดและเป็นประธาน บอร์ด สปสช. ด้วยกลับไม่ท้วงเรื่องนี้ แต่ปล่อยให้มีการนำเสนอและมีการบันทึกเป็นเอกสารได้อย่างไร แม้จะบอกว่าไม่ได้รับรองเอกสาร แต่หากรายงานนี้ไปบรรจุในแผนปฏิรูประบบสุขภาพจะทำอย่างไร สมควรหรือไม่ที่ปลัด สธ.ควรรับผิดชอบเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปลัด สธ.แสดงชัดเจนแล้วว่าไม่มีการนำเสนอประเด็นร่วมจ่าย กลุ่มฯจะยุติเรื่องนี้หรือไม่ นายนิมิตร์ กล่าวว่า ต้องติดตาม แต่ที่สำคัญคือ ปลัด สธ.ต้องแสดงจุดยืนให้ชัดเจนกว่านี้ว่าจะไม่มีการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยการให้ประชาชนร่วมจ่าย โดยเฉพาะร่วมจ่ายที่โรงพยาบาล ซึ่งจะเกิดการแบ่งแยกคนมีเงินจ่าย กับคนจน โดยปลัดสธ.ต้องเรียกประชุมบอร์ด สปสช. เสียที เนื่องจากบอร์ดฯ จะมีภาคประชาชน มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ควรมีการยืนยันในบอร์ดด้วย ไม่ใช่แค่ในการแถลงข่าวเท่านั้น
** อัด”หมอประเวศ”ดิ้นรักษาอำนาจ

วันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชมรมคนไทยรักชาติ (ครช.) นำโดย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้ออกแถลงการณ์ขอให้ นพ.ประเวศ วะสี และสถาบันพระปกเกล้า ยุติการเคลื่อนไหวสนับสนุนคอร์รัปชันภายในชาติ โดย พญ.เชิดชู กล่าวว่า ที่ผ่านมา นพ.ประเวศ ตั้งตนเป็นราษฎรอาวุโส และไม่เคยแสดงจุดยืนในการต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชันเลย แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ กลับออกมาเสนอความคิดเห็น ซึ่งมองว่าเพื่อเป็นการรักษาอำนาจของตนเอง จึงอยากให้ คสช. ตรวจสอบ กลุ่มของ นพ.ประเวศ และเครือข่ายว่า การทำงานที่ผ่านมาได้รับทุนจากที่ใดบ้าง และถูกต้องหรือไม่
พญ.เชิดชู กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กลุ่ม นพ.ประเวศ มีการเขียนกฎหมายเพื่อดึงเอางบประมาณแผ่นดินมาตั้งกองทุน พร้อมกับตั้งตัวเองและพวกพ้องเข้ามาบริหารกองทุน หรือบางทีก็กลับมาเป็นผู้รับทุนเองด้วยซ้ำ ผ่านรูปแบบของการตั้งมูลนิธิทางด้านสาธารณสุข โดยไม่สามารถตรวจสอบการทำงานได้ เช่น กองทุนบูรณะเวศ ซึ่ง นพ.ประเวศ ก็เป็นผู้ตั้งเอง ก็คือการนำงบประมาณจากหน่วยงานรัฐมาใช้ผ่านกองทุน เข้าสู่มูลนิธิ เพื่อทำเรื่องการปรับคุณภาพน้ำในท้องถิ่น แต่กลับพบว่า มีการเรียกรับเงินจากประชาชน ทั้งที่ได้รับทุนมาเพื่อทำงานให้ประชาชน นอกจากนี้ ยังพบว่าในพื้นที่ จ.นนทบุรี มีการตั้งมูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพจำนวนมาก ซึ่งอยากให้ คสช. ตรวจสอบกระบวนการดังกล่าว ว่ามีการทุจริตหรือไม่

“การคอร์รัปชั่นของกลุ่มเครือข่าย นพ.ประเวศ ก็เหมือนกับ ระบอบทักษิณ ที่ทำให้คนเห็นว่า นโยบายที่ตนคิดขึ้นเป็นเรื่องดี แต่ความจริงแล้วเป็นการทำเพื่อพวกพ้องของตนเอง กลุ่มของหมอประเวศ จึงเหมือนกับระบอบทักษิณ ในระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งกลุ่มของตน จะไม่ขอปรองดองกับคนทุจริต ” พญ.เชิดชู กล่าว

พญ.เชิดชู กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการร่วมจ่าย ในระบบประกันสุขภาพ ในประเทศที่เจริญแล้ว จะมีการกำหนดเกณฑ์ให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบในสุขภาพ โดยการซื้อประกันสุขภาพ และยกเว้นผู้ที่ไม่มีความสามารถ เช่น คนแก่ คนยากจน เป็นต้น ซึ่งถึงเวลาแล้วที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องยกเครื่องระบบสุขภาพ ในส่วนของประกันสุขภาพ ไม่ใช่ให้เฉพาะคน 48 ล้านคนได้รับสิทธิมากกว่าคนที่ทำมาหากิน และต้องจ่ายสมทบเข้าประกันสังคมทุกเดือน โดยทำให้คนที่สามารถจ่ายเงินได้ มีส่วนในการร่วมจ่าย และพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยการกำจัดคอร์รัปชัน ในระบบสาธารณสุข
นอกจากนี้ ปัจจุบัน สปสช.เป็นคนถือเงินและบังคับให้โรงพยาบาลรักษาพยาบาลตามที่กำหนด เป็นเหตุทำให้โรงพยาบาลขาดทุน ซึ่งพบว่ามีการตั้งคนมาเพื่อสนับสนุนพวกตนเอง คือ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ มาเสนอสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์ จนทำให้ระบบไม่สามารถรับไหว

**จี้ คสช.ลงมาจัดการ

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกระแสข่าวความขัดแย้งเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระแสข่าวที่ออกมา ไม่ว่าเรื่องการให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษา หรือเรื่องเขตบริการสุขภาพ ได้สร้างความสับสนให้กับสังคม โดยเฉพาะกับประชาชนผู้ด้อยโอกาส ที่ย่อมต้องเป็นห่วงว่า ในอนาคตข้างหน้าหากเจ็บป่วย หรือไม่สบายแล้วจะเป็นอย่างไร ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ อย่างไร จึงอยากให้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช.ทำให้เรื่องชัดเจนโดยเร็ว ทั้งนี้ก่อนที่จะมีข้อสรุปใดๆออกมา ก็ขอให้คำนึงถึงประชาชนเป็นที่ตั้งด้วย
นายอุเทน กล่าวด้วยว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง แม้ไม่เคยรับบริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เหมือนกับอีกหลายๆครอบครัว จึงก็มีคำถามว่างบประมาณรายจ่ายเหมาหัวประชากร ในโครงการนั้น สำหรับคนที่ไม่ได้ไปใช้บริการมีจำนวนเท่าใด และเมื่อไม่มีการเข้าใช้บริการ งบประมาณส่วนนี้หายไปไหน เรื่องเหล่านี้ คสช. ควรเข้ามาตรวจสอบ และติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิดด้วย
"ปัญหาที่เกิดในเวลานี้ เป็นเพราะคนในกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. กำลังแย่งอำนาจการบริหารงบประมาณ และอำนาจในการบริหารบุคลากร ใช่หรือไม่ ทำให้การบริหารจัดการโครงการซ้ำซ้อนขึ้นมา จึงขอฝากไปถึงคสช.ให้โปรดช่วยคืนความสุขให้กับกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และประชาชนคนเจ็บป่วยด้วย" นายอุเทน ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น