xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเสี่ยงเมินฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 1.7 ล้านคน เสี่ยงระบาดหนัก ยอดป่วยพุ่ง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ. เผยกลุ่มเสี่ยงยังไม่มาฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกกว่า 1.7 ล้านคน จี้ทุกจังหวัดติดตาม หวั่นผู้ป่วยพุ่งช่วง ส.ค.- ก.ย. เดือนละ 2.6 หมื่นคน เหตุปีนี้ยอดผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านเกือบ 3 เท่า ยันเกิดอาการข้างเคียงน้อย เพียง 24 ราย จาก 1.6 ล้านราย เป็นเพียงปวดบวมที่ฉีด ไข้ต่ำ เท่านั้น ขอประชาชนอย่าวิตก

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปีนี้ สธ. ได้เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ เอ H1N1 สายพันธุ์ เอ H3N2 และสายพันธุ์บี เร็วกว่าปกติ ให้แก่กลุ่มเสี่ยงฟรี 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี และผู้ป่วยโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค คือ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด รวม 3 ล้านคน และฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ 4 แสนคน เพื่อป้องกันการป่วยก่อนช่วงระบาด ขณะนี้ฉีดไปแล้วรวม 1,622,866 ราย ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกจังหวัด เร่งรณรงค์และติดตามประชาชนกลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกจำนวน 1,777,134 คน ให้ไปรับการฉีดวัคซีนให้ครบทุกคนตามที่กำหนด คือ ภายใน 31 ก.ค.

นอกจากนี่้ ยังเร่งให้ความรู้ประชาชน เพื่อร่วมกันป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีประชาชนอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ยานพาหนะสาธารณะต่างๆ ทั้งรถยนต์โดยสาร เรือ และเครื่องบิน ขอให้ล้างมือบ่อยๆ หากเป็นไข้หวัด ขอให้คาดหน้ากากป้องกันการแพร่กระจายเชื้อตลอดเวลา เนื่องจากปีนี้จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ มีแนวโน้มสูงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่ 1 ม.ค. - 6 ก.ค. 2557 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 41,196 ราย เสียชีวิต 56 ราย เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2556 สูงกว่า 2-3 เท่าตัว ซึ่งตลอดปี 2556 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 43,866 ราย ดังนั้น หากไม่ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มแข็งเพียงพอ จำนวนผู้ป่วยใน ส.ค.-ก.ย. คาดว่าจะมีสูงสุดเดือนละ 20,000 - 26,000 ราย” ปลัด สธ. กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางคน ยังไม่ไปรับการฉีดวัคซีน เพราะกลัวว่าจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลังการฉีด ขอให้ความมั่นใจว่า วัคซีนที่ฉีดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นวัคซีนรวมทำจากเชื้อตาย หลังฉีดจะไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันเชื้อภายใน 15 วัน ใช้ป้องกันได้ 1 ปี และ สธ. มีระบบการดูแลผู้มารับการฉีดวัคซีนทุกคน โดยเจ้าหน้าที่จะซักประวัติ ตรวจคัดกรอง และให้ความรู้ก่อนการฉีดวัคซีน ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวจะได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน และมีระบบติดตามอาการภายหลังฉีด ซึ่งผลการเฝ้าระวังผู้ที่ฉีดไปแล้วประมาณ 1.6 ล้านราย พบผู้ที่มีอาการข้างเคียงจากวัคซีนน้อยมากเพียง 24 ราย ส่วนใหญ่เป็นอาการที่เกิดทั่วๆ ไปไม่ร้ายแรง เช่น ปวดบวมบริเวณที่ฉีด ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย มักเกิดขึ้นภายใน 12 ชั่วโมง และหายเป็นปกติภายใน 1-2 วัน ไม่พบรายใดเกิดผลข้างเคียงรุนแรง ขอให้ประชาชนกลุ่มที่ต้องฉีดวัคซีนคลายความกังวล และให้ติดต่อรับบริการที่โรงพยาบาลในสังกัดและโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการใกล้บ้าน

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีวิธีสร้างภูมิต้านทานโรคป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย โดยให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ และฝึกนิสัยไม่ใช้มือที่ยังไม่ได้ล้างทำความสะอาดแคะจมูก จับปาก ขยี้ตา เพิ่มการรับประทานผักผลไม้สดให้มากขึ้น หากป่วยเป็นไข้หวัด คือมีอาการไข้ ไอ จาม ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีน้ำมูก ให้ใส่หน้ากากป้องกันการเชื้อแพร่สู่คนอื่นและควรหยุดงาน หยุดเรียนและพักรักษาตัวที่บ้านให้หายเป็นปกติแล้ว 1 วัน จึงกลับไปเรียนหรือทำงานตามเดิม หากอาการป่วยไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้ไปพบแพทย์ หากตรวจพบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ จะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ซึ่งขณะนี้มีในโรงพยาบาลทุกแห่ง

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น