xs
xsm
sm
md
lg

ชาวมุสลิมสูบบุหรี่สูง ชวนลดละเลิกช่วงเดือนรอมฎอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พบชาวมุสลิมสูบบุหรี่สูง โดยในกลุ่มชายชาวมุสลิมสูบสูงกว่าชายชาวไทยพุทธถึง 2 เท่า ผู้นำทางศาสนาครึ่งหนึ่งยังสูบบุหรี่อยู่ สสม. ร่วมจุฬาราชมนตรี และ สสส. หนุนกิจกรรมชาวมุสลิมเลิกบุหรี่เดือนรอมฎอน

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่ห้องอาหารโซเฟีย มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย (สสม.) ร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมผู้นำศาสนาอิสลาม 39 จังหวัดทั่วประเทศ รวมใจรณรงค์เลิกบุหรี่ในเดือนรอมฎอน

นายคณี โยธาสมุทร ผู้อำนวยการศูนย์กิจกรรมภาคกลาง สสม. กล่าวว่า การจัดโครงการผู้นำศาสนา 39 จังหวัดทั่วประเทศ รวมใจรณรงค์เลิกบุหรี่ในช่วงเดือนรอมฎอนเดือนอันประเสริฐ เพื่อให้ผู้นำศาสนาได้เป็นตัวอย่างในการงดสูบบุหรี่ในช่วงเดือนรอมฎอน และเป็นจุดเริ่มต้นของการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ โดยสถานการณ์ของชาวมุสลิมที่เสพสิ่งมึนเมาถือว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งสิ่งเสพติดเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักศาสนาและทำลายสุขภาพ มีงานวิจัยระบุว่า มีชาวมุสลิมดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มาก โดยเฉพาะในเขตเมือง และการสูบบุหรี่ยังไม่ลดลงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในบางพื้นที่ยังมีปัญหายาเสพติด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมายในสังคม จึงขอให้ช่วงรอมฎอนอันประเสริฐนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันดีในการลด ละ เลิกสิ่งเหล่านี้

ด้าน ดร.วิศรุต เลาะวิถี ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม หรือฮาลาม ตามที่จุฬาราชมนตรีได้วินิจฉัยไว้ จึงขอให้อิหม่ามมัสยิดดูแลไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในมัสยิด เนื่องจากการสูบบุหรี่ในมัสยิดเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายแล้ว ยังจะเป็นการทำร้ายคนรอบข้างด้วยจึงเป็นฮาลาม (สิ่งต้องห้าม) และเนื่องจากเดือนรอมฎอนเป็นเดือนต้องห้ามการสูบบุหรี่ในเวลากลางวันอยู่แล้ว จึงขอให้ทุกท่านเริ่มต้นหยุดสูบบุหรี่ในเดือนนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของท่านและคนรอบข้างตลอดไปและเพื่อถวายแด่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) และมัสยิดเป็นสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 อยู่แล้ว โดย สสม. ร่วมกับ สสส. ขยายพื้นที่ปลอดบุหรี่ “รวมพลัง ทวงสิทธิ์ ห้ามสูบ ในพื้นที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย 100%” ด้วยการรณรงค์ติดสติกเกอร์ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ถือเป็นการรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงพิษของควันบุหรี่ร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันมีมัสยิดปลอดบุหรี่ 10 จังหวัดทั่วประเทศ

“การส่งเสริมให้ชุมชนร่วมมือปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ โดยมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ มีส่วนช่วยทำให้ เกิดการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปัญหาและข้อเสนอแนะ ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาวะ ซึ่งครอบคลุมในทุกๆ ด้านของชีวิต ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ถือเป็นหน้าที่ของชาวมุสลิมที่ควรปฏิบัติตนตามหลักศาสนาเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อตนเองและครอบครัวอีกด้วย” ดร.วิศรุต กล่าว

รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการวิจัยเก็บสถานการณ์สุขภาพในชาวมุสลิมพบว่า ชายในสังคมมุสลิมมีอัตราการสูบบุหรี่มากกว่าชาวไทยพุทธประมาณ 2 เท่า ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วง ส่วนผู้นำศาสนาประมาณครึ่งหนึ่งยังสูบบุหรี่อยู่ หากสามารถทำให้ผู้นำศาสนาเลิกสูบบุหรี่ได้ ก็จะชักชวนให้ชาวมุสลิมเลิกสูบบุหรี่ได้ด้วย ทั้งนี้ การรณรงค์เพื่อลดอัตราการสูบบุหรี่ในชาวมุสลิมเริ่มทำอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2547 ส่วนหนึ่งมาจากมีงานวิจัยที่ชัดเจนขึ้น โดยมีการนำหลักศาสนามาใช้อธิบาย ซึ่งพบว่าการทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน รวมทั้งการดื่มกินของที่เป็นอันตราย ถือเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักศาสนา อย่างไรก็ตาม การเลิกสูบบุหรี่จำเป็นต้องมีมาตรการการช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อให้สามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น