xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! อย่าซื้อ “คิวเฟชส์” เครื่องสำอางปลอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระวัง! เครื่องสำอาง “คิวเฟชส์” อย. ฟันธง! เป็นเครื่องสำอางปลอม หลังตรวจสอบพบไม่มีเลขจดแจ้งบนฉลาก แถมอ้างแหล่งผลิตไม่เป็นจริง เตือนอย่าหลงเชื่อ ผู้ผลิต - ผู้ขายมีโทษ แนะเลือกซื้อเครื่องสำอางมีหลักแหล่ง อย่าซื้อตามอินเทอร์เน็ต ตรวจดูเลขที่จดแจ้งทุกครั้ง

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวว่า ผู้บริโภคได้ร้องเรียนมายัง อย. ว่า มีบุคคลอ้างตัวเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องสำอางตรา “คิวเฟชส์” ฉลากระบุเลขเครื่องสำอางควบคุม ฉผส.114/2540 ผลิตและจัดจำหน่ายโดย เลขที่ 54/64 หมู่ 1 ต.รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ใต้กล่องระบุ Product of Thailand 9857742255739 วันที่ผลิต 17/04/13 และไม่มีเลขจดแจ้ง เพื่อให้ อย. ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหลังจากรับเรื่องร้องเรียนและประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ปทุมธานี ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นเพียงที่อยู่อาศัย โดยเจ้าของบ้านยืนยันว่าสถานที่แห่งนี้ไม่เคยมีการผลิตเครื่องสำอางเพื่อจำหน่าย ดังนั้น เครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวจึงจัดเป็นเครื่องสำอางปลอม เพราะไม่มีการจดแจ้งกับ อย. และสถานที่ผลิตไม่ตรงตามที่แจ้งในฉลาก ผู้ผลิตและผู้ขายจะมีความผิดต้องโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้ผู้บริโภคตรวจสอบเครื่องสำอางก่อนซื้อ ว่ามีการจดแจ้งหรือไม่ จากเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลาก โดยสืบค้นได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือทาง Oryor Smart Application หากมีในฐานข้อมูลเครื่องสำอางจะปรากฏออกมา และต้องดูว่าตรงกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการจะซื้อหรือไม่ ถ้าตรงกันจึงค่อยซื้อ ควรเลือกซื้อเครื่องสำอางจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน เชื่อถือได้ และขอใบเสร็จที่มีหัวบิลทุกครั้ง เพราะหากเกิดปัญหาสามารถติดต่อผู้รับผิดชอบได้

นอกจากนี้ ควรซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย โดยระบุข้อความที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ชัดเจน เช่น ชื่อและชนิดของเครื่องสำอาง เลขที่ใบรับแจ้ง ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือนำเข้า เป็นต้น อีกทั้งควรเลือกเครื่องสำอางที่หีบห่อภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพดีไม่แตกรั่ว และมีการเก็บรักษาอย่างดี ไม่อยู่ในที่ร้อนชื้นหรือโดนแสงแดด ทั้งนี้ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเครื่องสำอางที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น มีผลต่อโครงสร้างของร่างกายอ้างว่าช่วยทำให้ผอมเพรียว ช่วยขยายทรวงอกให้อวบอิ่ม รักษาสิวอักเสบ รักษาฝ้า” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ภก.ประพนธ์ กล่าวด้วยว่า การเลือกซื้อเครื่องสำอางทางอินเทอร์เน็ตมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์มากกว่าร้านที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง เนื่องจากผู้ซื้อยังไม่ทราบข้อมูลบนฉลาก ต่อเมื่อได้รับสินค้าแล้วจึงจะสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ การหลงเชื่อข้อความโฆษณาโดยไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ จะทำให้ได้รับเครื่องสำอางที่อาจไม่มีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้างได้ และเมื่อซื้อหรือสั่งซื้อมาใช้แล้วมีปัญหาการใช้ จะติดตามหาผู้รับผิดชอบได้ยาก

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น