xs
xsm
sm
md
lg

บุกจับอาหารปลอมอันตราย น้ำกระเทียมดอง-มะนาวดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (16 มิ.ย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวจับผลิตภัณฑ์อาหารปลอมและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายนำเข้าจากต่างประเทศ ว่า อย.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบโกดังเก็บสินค้าสำหรับขายส่ง ย่านภาษีเจริญ ซึ่งไม่มีเลข อย. จึงได้ประสานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ทำการสืบสวนและนำหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านเลขที่ 33/80 ซอยศาลธนบุรี 27 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารปลอม คือ น้ำกระเทียมดอง 3 รส ตราครัวไทย เนื่องจากเลขสารบบอาหาร 10-1-08250-1-0036 บนฉลากนั้นไม่ใช่เลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพบผลิตอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ได้แก่ ซอสเย็นตาโฟ ตรานก บรรจุขวดพลาสติกสีขาวขุ่นปิดสนิท น้ำกระเทียมดองและน้ำมะนาวดองบรรจุในถ้วยพลาสติกปิดสนิท รวมถึงสุขลักษณะสถานที่ผลิตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ อย.ได้ยึดของกลางทั้งหมด มูลค่าประมาณ 5 แสนบาท พร้อมแจ้งดำเนินคดีเบื้องต้นในข้อหา 1.ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันถึง 1 แสนบาท 2. ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท และ 3.ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายจากสถานที่ผลิตที่มีสุขลักษณะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

"อาหารปลอมจะดูเพียงบรรจุภัณฑ์อย่างเดียวไม่ได้ ไม่ใช่ว่าการใส่ขวดพลาสติกติดฉลากแบบที่ทำกันอย่างชาวบ้านจะเป็นอาหารปลอมเสียทั้งหมด เพราะอย่างอาหารแปรรูปของสินค้าโอทอปก็มีลักษณะบรรจุภัณฑ์เช่นนี้ ดังนั้น จึงควรดูที่เลขสารบบเป็นหลัก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application" รองเลขาธิการ อย. กล่าวและว่า อาหารปลอมมีความอันตรายและน่าเป็นห่วง เพราะอาจมีการใส่สารบางอย่างลงไป อย่างกรณีนี้คือน้ำกระเทียมดองและน้ำมะนาวดอง คาดว่ามีการใส่กรดอะซิติกลงไป เนื่องจากวันที่เข้าตรวจสอบได้พบสารตัวนี้ในที่ผลิตด้วย หากใส่มากเมื่อรับประทานเข้าไปก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ระคายระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุได้ ซึ่งขณะนี้กำลังส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์อยู่ว่ามีการใส่สารลงไปมากน้อยเพียงใด ผู้บริโภคควรใส่ใจในการตรวจสอบเลขสารบบทุกครั้งก่อนซื้อ เพราะจะคิดว่าเป็นสินค้าในชีวิตประจำวันอย่างเดียว โดยไม่ต้องตรวจสอบไม่ได้แล้ว เพราะอย่างที่เห็นอาจมีการสวมเลขสารบบของสินค้าอื่น

นพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ อย.ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ยี่ห้อ FUCO ทั้ง FUCO PURE และ FUCO BURN ที่โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดระดับโคเลสเตอรอล ทำให้หุ่นดี หุ่นสวย ฯลฯ ผ่านทางหลายเว็บไซต์ ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. อย.ร่วมกับ บก.ปคบ.ทำการสืบสวนและขยายผลการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์และโฆษณาเกินจริงทางเว็บไซต์ดังกล่าว พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ FUCO จำนวนมาก จึงยึดของกลางกว่า 3 แสนบาท พร้อมจับกุมผู้กระทำความผิด 1 ราย นำส่งดำเนินคดี เบื้องต้นแจ้งข้อหาจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และยังไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และโฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

"ขณะนี้มีพ่อค้าหัวใสโพสต์สินค้าขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ถูกกฎหมายหลากหลายชนิดผ่านทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก โฆษณาชวนเชื่อโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เป็นสินค้าจากต่างประเทศ หรืออ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มีคุณภาพดีกว่าสินค้าอื่นๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งในความเป็นจริงผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจไม่มีคุณภาพ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และบางอย่างก็ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. อย่างผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ FUCO ทุกรุ่นก็ไม่เคยมีการขออนุญาต ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้สั่งซื้อมาใช้เด็ดขาด" รองเลขาธิการ อย. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น