xs
xsm
sm
md
lg

งานคุ้มครองผู้บริโภคฯ ภูเก็ต ขยายเครือข่าย อสม.กว่า 200 คน ลงพื้นที่ให้บริการฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เลขาธิการ อย.ร่วมกับ สสจ.ภูเก็ต เปิดงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจังหวัด จัดขยายเครือข่าย อสม.กว่า 200 คน ลงพื้นที่ให้บริการฟรีแล้ววันนี้ ทั้งในเรื่องการตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหาร และยา พร้อมทั้งให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องแก่ชุมชน

วันนี้ (3 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน คุ้มครองผู้บริโภค ปี 2557 และเชิดชูเกียรติ อสม.คุ้มครองผู้บริโภคดีเด่น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.) ร่วมกันจัดขึ้น มี น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แขกผู้มีเกียรติ รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม

นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง มีผู้บริโภคทั้งที่เป็นนักท่องเที่ยว และผู้ใช้แรงงานเดินทางเข้ามามากมาย ทำให้เกิดปัญหาการบริโภคตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ปัญหาโรคทางเดินอาหารจากอาหารไม่สะอาด มีสารปนเปื้อน ปัญหาการโฆษณายา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือเครื่องสำอางโอ้อวดเกินความจริงทางสื่อต่างๆ และปัญหาการร้องเรียนจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือบริการสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งเป็นภาระให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ แก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา

ภาคประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อสม. ซึ่งประจำการอยู่ในชุมชนได้เข้ามามีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยเป็นหน่วยงานสมทบในการเฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตาแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่มีจำนวนจำกัด ทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงทุกชุมชน ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจที่จะได้รับผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือบริการสุขภาพที่ปลอดภัย เป็นธรรม และสมประโยชน์

ด้าน น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในโอกาสที่วันคุ้มครองผู้บริโภคสากลเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา และวันคุ้มครองผู้บริโภคของไทยที่จะเวียนมาถึงในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ อย.และ สสจ.ภูเก็ตภูเก็ต จะได้เปิดประตูการคุ้มครองผู้บริโภคให้ก้าวสู่ชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยสมาชิกในชุมชนเอง การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพจึงไม่ได้เป็นเรื่องยากลำบาก และไกลตัวอีกต่อไป

ขณะที่ทางด้านเภสัชกรสมสุข สัมพันธ์ประทีป หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สสจ.ภูเก็ต กล่าวถึงความสำเร็จของงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในจังหวัดภูเก็ต ว่า อสม.ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินกิจกรรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555 จนมีจำนวนสมาชิกครบทุกตำบลๆ ละ 3 คน และแกนนำแต่ละตำบลยังได้ขยายเครือข่ายต่อไปอีกตำบลละ 10 คน และในเขตเทศบาลนครอีก 50 คน จนปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิกทั้งจังหวัดรวม 200 คน ได้รับการฝึกอบรมภาคทฤษฎีและทักษะการปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันโรค เพื่อเป็นตัวแทนของชุมชนในการคุ้มครองความปลอดภัยในการบริโภค และส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนความรู้ด้านวิชาการ และงบประมาณจาก สสจ.ภูเก็ต, อย., องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ อสม.ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จ.ภูเก็ต และประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคเทศบาลนครภูเก็ตภาคประชาชน ได้แก่ นายพิมล เตียวนะ อสม.เขตเทศบาลนครภูเก็ต ชุมชนหลังหอประชุม ยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น อสม.ดีเด่นระดับภาค สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ประจำปี 2557 แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของ อสม. ที่จะช่วยดูแลความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้เป็นอย่างดียิ่ง วันนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่งานคุ้มครองผู้บริโภคจะได้ปักธงลงในชุมชนของจังหวัดภูเก็ต ผู้บริโภคสามารถใช้บริการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชกรสาธารณสุข สสจ.ภูเก็ต โทร.0-7621-1330 ต่อ 204-6 หรือ อีเมล fdapv83@fda.moph.go.th

“จากการขยายเครือข่าย อสม.อย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้ตอนนี้เรามีจำนวนสมาชิกทั้งจังหวัด รวม 200 คน ซึ่งได้รับการฝึกอบรมภาคทฤษฎี ละทักษะการปฏิบัติงานในพื้นที่ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค และป้องกันโรค ได้แก่ การตรวจหาสารปนเปื้อน ตรวจสอบโฆษณา ตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตรวจสอบสถานประกอบการร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ ให้ความรู้ และรณรงค์การคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชน และรับเรื่องร้องเรียนปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาดำเนินการแก้ปัญหาให้ต่อไป” เภสัชกรสมสุข กล่าวในที่สุด

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น