xs
xsm
sm
md
lg

ทลายแหล่งผลิตอาหารปลอม “น้ำกระเทียมดอง-น้ำมะนาวดอง” พบใส่กรดอะซิติก (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อย. บุกจับอาหารปลอม “น้ำกระเทียมดอง - น้ำมะนาวดอง” พบสวมทะเบียน อย. แถมแสดงฉลากไม่ถูกต้อง เตือนสุดอันตราย เหตุอาจใส่กรดอะซิติกจำนวนมาก ทำระบบทางเดินอาหารระคายเคือง เสี่ยงกระเพาะทะลุ แนะตรวจสอบเลขสารบบทุกครั้งช่วยได้ พร้อมทลายอาหารเสริม FUCO อวดอ้างลดอ้วนตามเว็บเกลื่อน



วันนี้ (16 มิ.ย.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวจับผลิตภัณฑ์อาหารปลอมและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายนำเข้าจากต่างประเทศ ว่า อย.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบโกดังเก็บสินค้าสำหรับขายส่ง ย่านภาษีเจริญ ซึ่งไม่มีเลข อย. จึงได้ประสานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ทำการสืบสวนและนำหมายค้นเข้าตรวจสอบบ้านเลขที่ 33/80 ซอยศาลธนบุรี 27 แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ พบผลิตภัณฑ์ที่เป็นอาหารปลอม คือ น้ำกระเทียมดอง 3 รส ตราครัวไทย เนื่องจากเลขสารบบอาหาร 10-1-08250-1-0036 บนฉลากนั้นไม่ใช่เลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังพบผลิตอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ได้แก่ ซอสเย็นตาโฟ ตรานก บรรจุขวดพลาสติกสีขาวขุ่นปิดสนิท น้ำกระเทียมดองและน้ำมะนาวดองบรรจุในถ้วยพลาสติกปิดสนิท รวมถึงสุขลักษณะสถานที่ผลิตไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

นพ.ไพศาล กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ อย. ได้ยึดของกลางทั้งหมด มูลค่าประมาณ 5 แสนบาท พร้อมแจ้งดำเนินคดีเบื้องต้นในข้อหา 1. ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่มีฉลากเพื่อลวง จัดเป็นอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันถึง 1 แสนบาท 2. ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท และ 3. ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายจากสถานที่ผลิตที่มีสุขลักษณะไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท

“อาหารปลอมจะดูเพียงบรรจุภัณฑ์อย่างเดียวไม่ได้ ไม่ใช่ว่าการใส่ขวดพลาสติกติดฉลากแบบที่ทำกันอย่างชาวบ้านจะเป็นอาหารปลอมเสียทั้งหมด เพราะอย่างอาหารแปรรูปของสินค้าโอทอปก็มีลักษณะบรรจุภัณฑ์เช่นนี้ ดังนั้น จึงควรดูที่เลขสารบบเป็นหลัก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application” รองเลขาธิการ อย. กล่าวและว่า อาหารปลอมมีความอันตรายและน่าเป็นห่วง เพราะอาจมีการใส่สารบางอย่างลงไป อย่างกรณีนี้คือน้ำกระเทียมดอง และน้ำมะนาวดอง คาดว่า มีการใส่กรดอะซิติกลงไป เนื่องจากวันที่เข้าตรวจสอบได้พบสารตัวนี้ในที่ผลิตด้วย หากใส่มากเมื่อรับประทานเข้าไปก็จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย ระคายระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุได้ ซึ่งขณะนี้กำลังส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์อยู่ว่ามีการใส่สารลงไปมากน้อยเพียงใด ผู้บริโภคควรใส่ใจในการตรวจสอบเลขสารบบทุกครั้งก่อนซื้อ เพราะจะคิดว่าเป็นสินค้าในชีวิตประจำวันอย่างเดียว โดยไม่ต้องตรวจสอบไม่ได้แล้ว เพราะอย่างที่เห็นอาจมีการสวมเลขสารบบของสินค้าอื่น

นพ.ไพศาล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ อย. ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ยี่ห้อ FUCO ทั้ง FUCO PURE และ FUCO BURN ที่โฆษณาอวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดระดับโคเลสเตอรอล ทำให้หุ่นดี หุ่นสวย ฯลฯ ผ่านทางหลายเว็บไซต์ ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. อย. ร่วมกับ บก.ปคบ. ทำการสืบสวนและขยายผลการลักลอบจำหน่ายผลิตภัณฑ์และโฆษณาเกินจริงทางเว็บไซต์ดังกล่าว พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ FUCO จำนวนมาก จึงยึดของกลางกว่า 3 แสนบาท พร้อมจับกุมผู้กระทำความผิด 1 ราย นำส่งดำเนินคดี เบื้องต้นแจ้งข้อหาจำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง และยังไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และโฆษณาอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ขณะนี้มีพ่อค้าหัวใสโพสต์สินค้าขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่ถูกกฎหมายหลากหลายชนิดผ่านทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก โฆษณาชวนเชื่อโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เป็นสินค้าจากต่างประเทศ หรืออ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มีคุณภาพดีกว่าสินค้าอื่นๆ ที่จำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งในความเป็นจริงผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจไม่มีคุณภาพ แสดงฉลากไม่ถูกต้อง และบางอย่างก็ไม่ผ่านการขออนุญาตจาก อย. อย่างผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ FUCO ทุกรุ่นก็ไม่เคยมีการขออนุญาต ขอให้ผู้บริโภคอย่าได้สั่งซื้อมาใช้เด็ดขาด” รองเลขาธิการ อย. กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่












กำลังโหลดความคิดเห็น