xs
xsm
sm
md
lg

เสียงสะท้อนคนทำงานถึง “สปสช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 12 ปี มุ่งเน้นการกระจายและสร้างโอกาสให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศไทยได้รับบริการ สาธารณสุขอย่างเท่าเทียม ผ่านการบริหารจัดการด้วย “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ บัตรทอง ซึ่งการทำงานดังกล่าวจะอาศัยแค่ให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นเสาหลักเพียงหนึ่งเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องกระจายการทำงานยังพื้นที่ ส่วนท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อผลัก ดันให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการและให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
“ในฐานะผู้ปฏิบัติงานคิดว่าการทำงานทั้งระบบจะสำเร็จได้ต้องเริ่มจากแนวคิดของ ผู้นำเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่นที่โรงพยาบาลเรามีแนวคิดว่าผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด รับสิทธิรักษาใดก็ต้องได้รับการดูแล ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุรินทร์ ที่ได้เน้นย้ำรวมไปถึงการส่งเสริมการทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาค ส่วน ให้เกิดการทำงานเป็นทีมซึ่งการทำงานในลักษณะเช่นนี้จะทำให้เกิดความรู้สึก วิน-วิน ทุกฝ่ายประชาชนก็มีความสุขที่ได้รับการดูแลตามสิทธิ เราเองก็เช่นกันหรือหากเกิดปัญหาเข้าใจผิดในการบริการเราก็จะใช้วิธีพูดคุย แก้ปัญหาให้ดีขึ้น หรือแม้แต่การจัดทำโครงการต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณมาจาก สปสช. ที่โรงพยาบาลก็เปิดให้ภาคประชาชนได้มามีส่วนร่วมด้วย” นางจิราพร ทองศรี นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสุรินทร์ จ.สุรินทร์ กล่าว

นางจิราพร บอกว่า โรงพยาบาลจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สปสช. เพื่อใช้ทำโครงการพัฒนาชุมชน ประชาชนทุกคนในระบบให้ได้รับบริการตามสิทธิบัตรทอง ซึ่งการทำงานโรงพยาบาลก็จะวิเคราะห์ว่าในพื้นที่อำเภอเมืองและในกลุ่ม พื้นที่เครือข่ายของโรงพยาบาล ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาเจ็บป่วยโรคใดและยังขาดบริการสาธารณสุขด้านใดบ้าง เช่น เรารู้ว่าในชาวบ้าน จ.สุรินทร์ ป่วยโรคเบาหวานมากเราก็นำงบฯที่ได้รับจาก สปสช. ทำโครงการไปสนับสนุนฟื้นฟู รูปแบบการทำงานนั้น ผอ.โรงพยาบาลฯ เน้นย้ำว่าโรงพยาบาลและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา รวมไปถึงภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น ต้องทำงานร่วมกันและกำหนดให้องค์ประกอบของกรรมการโรงพยาบาลต้องมีผู้แทนเหล่านี้มาร่วมด้วยเพื่อจะได้รู้ปัญหาที่แท้จริง เพราะการทำงานทุกอย่างไม่สามารถทำได้ด้วยตัวของโรงพยาบาลเอง จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายประชาชนที่มาร่วมทำงานมีอยู่ซึ่งเป็นจิตอาสาช่วยทำ หน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ทั้งโรงพยาบาลและชุมชนได้รับรู้ว่าโรงพยาบาลทำ โครงการ หรือ จัดให้บริการตามสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ อะไรบ้าง โดยโรงพยาบาลเน้นทำงานเชิงรุกไม่ใช่แค่ตั้งรับ มีการจัดคาราวานลงไปสู่ รพ.สต. ทำให้เราได้รู้ปัญหาทางด้านสุขภาพของชุมชนช่วยให้เราสามารถเก็บข้อมูล นำมาสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
จากคำบอกเล่านับได้ว่าแนวทางการดำเนินการของโรงพยาบาลสุรินทร์ สอดคล้องกับ สปสช. ที่มุ่งวางระบบกลไกการกระจายอำนาจและสร้างเครือข่ายระดับพื้นที่การทำงานจนเกิดความร่วมมือจนสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ทั่วถึงบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
มาดูทัศนะของภาคประชาชนที่ทำงานประสานกับ สปสช. และชุมชนพื้นที่กันบ้างว่าต้องทำอะไรบ้าง และพบปัญหาหรือต้องการให้ สปสช. มาแก้ไขปัญหาใดบ้าง โดย นางจันทร์เพ็ญ สินสอน ประธานมูลนิธิสุขภาพชุมชน จ.สุรินทร์ เล่าว่า ตนทำงานด้านสุขภาพและสุขภาวะทางเพศในชุมชนมานาน จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมกับ สปสช. เรื่องสิทธิบัตรทองและได้รับเลือกให้จัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกัน สุขภาพชุมชนและหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน เมื่อประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมาหน้าที่หลักๆ คือนำสิ่งที่เราได้รับการอบรมมาถ่ายทอดไปสู่ชุมชน เป็นปากเป็นเสียงให้ สปสช. ให้ความรู้พื้นฐานทั่วไปของสิทธิบัตร เช่น เจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ จะสามารถใช้สิทธิบัตรทอง หรือได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ถ้ามีความเข้าใจผิดเราก็ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อให้เขาเปลี่ยนทัศนคติที่ดีขึ้น ตนไม่ได้ทำงานแค่เพียง จ.สุรินทร์เท่านั้น ยังจัดกิจกรรมสัญจรไปในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ทั้ง นครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ
“พอได้มาทำงานนี้ร่วมกับ สปสช. ทำให้สร้างความน่าเชื่อถือและความรู้สึกที่ดีต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ขณะที่การทำงานประสานกับโรงพยาบาล สถานพยาบาลต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว แม้ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มทำงานนี้ก็มีข้อติดขัดบ้างจากปัญหาการมองคนไม่เท่ากัน เพราะเราเป็นแค่ชาวบ้านหลายคนมองว่าเราไม่มีความรู้ เจ้าหน้าที่บางคนที่ไม่เข้าใจก็มองว่าเราเอาปัญหาไปให้ ต้องยอมรับว่าทางสาธารณสุขคาดหวังว่าเราจะคัดกรองปัญหาให้ได้ก่อนส่งต่อ แต่พี่ทำงานกับชุมชนเราไปตัดสินใจหรือบอกชาวบ้านที่เขามาร้องเรียนทันทีไม่ได้หรอกว่าเขาจะได้หรือไม่ได้รับความช่วยเหลือ เมื่อเขามาขอความช่วยเหลือก็ต้องช่วย ซึ่งแท้จริงชาวบ้านไม่มีใครอยากร้องเรียนแต่เมื่อเขาสงสัยก็ต้องถามเมื่อไม่ได้จริงๆ เขาก็จะยอมรับได้ แต่ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขดีขึ้นแต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่บางคน ที่ยังมีทัศนคติแง่ลบอยู่ เพราะฉะนั้น อยากจะขอให้ สปสช.เข้ามาช่วยประสานทำความเข้าใจกับหน่วยงานและบุคลากรภาครัฐ ปัญหาอยู่บ้างสำหรับบาทัศนคติ”ประธานมูลนิธิฯ สะท้อนมุมมอง
นางจันทร์เพ็ญ บอกด้วยว่า นอกจากนี้ อยากเสนอให้ สปสช. จัดอบรมพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนความรู้เพิ่มเติมให้แก่เจ้าหน้าที่ของ ศูนย์ฯ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพราะแม้ทาง สปสช. จะจัดส่งเอกสารความรู้มาให้เราได้อ่าน แต่ในบางครั้งเราก็อยากจะมีโอกาสได้พูดคุยและสอบถามโดยตรง เนื่องจากการทำงานต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ มาตรฐานการรักษากฎหมาย รวมถึงมาตรฐานของยาที่ผู้รับบริการตามสิทธิหลักประกัน เป็นต้น เราควรจะได้รับการต่อยอดความรู้เพื่อการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ได้ฟังข้อเรียกร้องแล้ว สปสช. คงต้องรีบจัดอบรมให้กลุ่มเครือข่ายฯ ที่มีอยู่อย่างรวดเร็ว..

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น