xs
xsm
sm
md
lg

ประชาพิจารณ์ “สิทธิบัตรทอง” สะท้อนต้นทุน รพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 18(13) คือ จะต้องรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง

คำถามคือ แล้วประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองจะได้อะไรจากการรับฟังความคิดเห็นนี้บ้าง

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า ประเด็นที่รับฟังความคิดเห็นจะมีหลากหลายประเด็นด้วยกัน อาทิ สิทธิประโยชน์ มาตรฐานบริการสาธารณสุข การบริหารจัดการสำนักงาน การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ ซึ่งแต่ละปีก็จะเน้นประเด็นต่างๆ แตกต่างกันออกไป แต่ก็จะไม่พ้นประเด็นเหล่านี้

การรับฟังความคิดเห็นเหล่านี้สุดท้ายก็เพื่อสะท้อนว่า การบริหารจัดการของ สปสช.เป็นอย่างไร และมีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง แก้ไข หรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้สิทธิทุกคน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 48 ล้านคน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าเกิดจากการรับฟังความคิดเห็น อาทิ การขยายบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย การสนับสนุนเร่งรัดพัฒนาบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ การให้ความคุ้มครองผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ การเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพง และยาในบัญชี จ(2) การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ การผ่าตัดหัวใจ เป็นต้น

นพ.จรัล กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องล่าสุดที่มีการดำเนินการเพิ่มเติมจากการรับฟังความคิดเห็นปี 2556 ก็คือ การจัดตั้งกองทุนท้องถิ่น ซึ่งประชาชนในท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพพื้นที่ของตน โดยมีการตั้งคณะกรรมการกำหนดแผนโครงการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และควบคุมโรคในท้องถิ่นด้วยตัวเอง บทบาทตรงนี้จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น เช่น ดำเนินการเรื่องโรคไข้เลือดออก การเต้นแอโรบิก หรือการออกกำลังกาย ซึ่งงบประมาณจะมาจาก สปสช. คือ 45 บาทต่อรายหัวประชากรที่ใช้สิทธิบัตรทอง และอีกส่วนมาจาก อปท. ซึ่งจำนวนเงินขึ้นอยู่กับขนาดของ อปท. โดยอาจสมทบอยู่ที่ 30-60% ซึ่งการดำเนินงานในส่วนนี้จะมีผล 1 ต.ค. 2557

สำหรับการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นในปี 2557 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 5 มี.ค. เป็นต้นมา โดยเริ่มที่เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี และดำเนินการต่อเนื่องจนครบ 13 เขต นพ.จรัล เล่าว่า มีข้อเสนอแนะเข้ามาหลากหลายประเด็น อาทิ สปสช. ควรจัดตั้งกองทุนดูแลบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุโดยร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและชุมชน การตรวจสุขภาพให้เท่าเทียมกันทุกสิทธิ และการทบทวนให้ใช้บัญชียาเดียวกันทุกสิทธิ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นพ.จรัล กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จะเน้นในการรับฟังความคิดเห็นปีนี้ก็คือ เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำอย่างไรให้เขารู้ว่าเขามีสิทธิในระบบหลักประกันฯ เพราะจากการไปรับฟังความเห็นก็ทำให้ทราบว่าบางรายมีสิทธิ แต่ไม่รู้ว่ามีสิทธิ จนต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อมารักษา เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเน้นรับฟังความเห็นจากฝั่งผู้ให้บริการในระดับโรงพยาบาลตติยภูมิ หรือศูนย์การแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา นพ.จรัล ยอมรับว่า อาจจะยังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นได้อย่างไม่ครอบคลุมโรงพยาบาลทั้งสองกลุ่มนี้นัก ซึ่งทำให้การจัดสรรเงินกองทุนอาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาลสักเท่าไร

การจะจัดสรรเงินกองทุนกว่าแสนล้านบาทในแต่ละปีให้แก่หน่วยบริการ กฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ ปี 2545 มาตรา 46 บอกชัดเจนว่าจะต้องรับฟังความคิดเห็นหน่วยบริการด้วย เพื่อพิจารณาว่าควรให้งบรายหัวเท่าไร ซึ่งที่ผ่านมาจะอยู่ที่ตัวเลขกลมๆ ประมาณ 2,800-2,900 บาทต่อหัว รวมไปถึงงบส่งเสริมป้องกันโรค การรักษาโรคยากๆ ควรจัดสรรเท่าไรในกรอบวงเงินงบประมาณ

นพ.จรัล กล่าวว่า ดังนั้น การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมโรงพยาบาลระดับสูงเช่นนี้ จะช่วยสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาล และช่วยให้การจัดสรรงบประมาณไปยังหน่วยบริการเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงที่สุดด้วย จึงอยากให้ผู้ให้บริการในหน่วยบริการระดับสูงร่วมกับเข้าเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อเดินหน้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ดียิ่งขึ้น

เพราะสุดท้ายแล้ว ผลประโยชน์ตรงนี้ก็ไม่ได้ไปตกอยู่ที่ใคร แต่ตกไปอยู่ที่โรงพยาบาลและประชาชนที่มารับบริการนั่นเอง




กำลังโหลดความคิดเห็น