xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ สปสช.เพิ่มสิทธิบัตรทองตรวจสุขภาพ-ยา เท่าเทียมทุกสิทธิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิทธิบัตรทอง ผู้ให้บริการ ร่วมสะท้อนการรับฟังความเห็น เสนอ สปสช. ควรจัดกองทุนดูแลคนรอพิสูจน์สถานะ จัดระบบดูแลคนแก่ จี้ตรวจสุขภาพ-ใช้ยาบัญชียาหลักต้องเท่าเทียมทุกสิทธิ

วันนี้ (14 พ.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวระหว่างการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับประเทศปี 2557 ว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นในปีนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค. โดยเริ่มที่เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี และดำเนินการจนครบทั้ง 13 เขต ซึ่งประเด็นการรับฟังความคิดเห็นในปีนี้แบ่งออกเป็น 7 ด้านด้วยกัน คือ 1. สิทธิประโยชน์ 2. มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3. การบริหารจัดการสำนักงาน 4. การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ 5. การบริหารจัดการกองทุนท้องถิ่นฯ 6. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7. การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ

นพ.จรัล กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะที่สะท้อนเข้ามาในปีนี้ มีประเด็นหลากหลาย อาทิ สปสช. ควรจัดตั้งกองทุนดูแลบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ์ การจัดระบบดูแลผู้สูงอายุโดยร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและชุมชน การตรวจสุขภาพประจำปีให้เท่าเทียมทุกสิทธิ การเพิ่มสิทธิประโยชน์การคลอดไม่จำกัดจำนวนครั้ง และการทบทวนให้ใช้บัญชียาเดียวกันทุกสิทธิ นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจากฝ่ายผู้ให้บริการสาธารณสุข อาทิ การแยกเงินเดือนออกจากเงินรายหัว การรวมรายงานทุกงานเป็นโปรแกรมเดียวกัน เช่น E-Claim เป็นต้น และการนำประชากรแผงมาใช้ในการประมาณการจัดสรรงบประมาณหน่วยบริการ

“นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากผู้แทนภาคประชาชน อาทิ การขยายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุม การเพิ่มสิทธิประโยชน์เงินช่วยเหลือเบื้องต้น ม.41 และ ม.18 ให้เท่าเทียมทุกสิทธิ โดยความเห็นทังหมดนี้ รวมถึงข้อสรุปในการรับฟังความเห็นระดับประเทศในวันนี้ ทางคณะทำงานจะสรุปรวม คาดว่าจะเสนอต่อบอร์ด สปสช. ได้ใน มิ.ย. นี้”

ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ระบบหลักประกันเป็นระบบการจัดบริการรักษาพยาบาลที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทำให้ สปสช. ในฐานะผู้จัดหาบริการสาธารณสุขสามารถจัดบริการสุขภาพได้ตรงกับความต้องการของประชาชน อย่างการจัดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาด้วยการจัดทำเป็นนโยบาย นอกจากนี้ ยังเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการปรับปรุวการบริหารจัดการที่นอกจากตอบสนองยังฝ่ายผู้ให้บริการแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือทุกภาคส่วนและนำไปสู่การพัฒนาระบบหลักประกันฯ

อนึ่ง ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งมีการประกาศเป็นนโยบายหรือกำหนดเป็นชุดสิทธิประโยชน์แล้ว ได้แก่ การสนับสนุน เร่งรัด พัฒนาบริการปฐมภูมิใกล้บ้านใกล้ใจ การให้ความคุ้มครองผู้ติดเชื้อ HIV และผู้ป่วยเอดส์ การเพิ่มการเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย การยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท การบริหารจัดการโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างครบวงจร การขยายบริการทดแทนไตสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ยกเลิกการจำกัดการคุ้มครองการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี การนำร่องการใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดแทนบัตรทอง และการเพิ่มการเข้าถึงยาราคาแพง และยาในบัญชี จ(2) เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น