xs
xsm
sm
md
lg

ชูพลังประชาชนเชื่อมต่อชุมชนเข้าถึง “สิทธิบัตรทอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การดูแลประชาชนทุกคนให้ได้รับบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขตามสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพและมาตรฐาน ภายใต้การดูแลตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหัวใจสำคัญที่ สปสช.ต้องขับเคลื่อนและพัฒนาระบบประกันสุขภาพเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกคนว่าจะได้รับการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงมี

ที่ผ่านมา สปสช.ได้พัฒนาระบบการให้บริการในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการใช้กลไกเครือข่ายภาคประชาชนมาเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการทำงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ร่วมเป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลจาก สปสช. กระจายไปสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงแม้จะประชาชนผู้รับบริการในระบบหลักประกันจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเพียงใดก็ตาม

โดย นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ประธานกลุ่มภารกิจสำนักงานสาขาและการมีส่วนร่วม สปสช. อธิบายว่า สปสช.ถูกออกแบบโดยให้นำประชาชนมามีส่วนร่วมเป็นหัวใจหลัก เพราะเล็งเห็นว่าประชาชน/ชุมชนนั้นมีพลังมหาศาลในการดูแลสุขภาพตนเอง ในหลักการเราจึงพัฒนากลไกต่าง ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายประชาชนขึ้น ทั้ง การให้ภาคประชาชนและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมแลกเปลี่ยนรับฟังความคิดเห็น ร่วมขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามมาตรา 18 (13) ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สุดของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เพราะการสร้างระบบสุขภาพที่ผ่านมาจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย โดย สปสช.ได้ตั้งกองทุนสุขภาพตำบล หรือ “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” ขึ้น ตามมาตรา 18 (8) ของพ.ร.บ.หลักประกันฯ ซึ่ง สปสช.สนับสนุนงบประมาณตามความเหมาะสม แต่ให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล ทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ลุกมาดูแลสุขภาพตัวเอง ขณะเดียวกันก็ได้ตั้ง กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ ระดับจังหวัด ซึ่งขยายการดูแลไปยังกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะฟื้นฟู ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ โดยจะใช้กลไกระดับจังหวัดมาบริหารจัดการ

ต่อมาคือ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ และหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) เป็นหัวใจสำคัญในการเชื่อมประสานระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจสิทธิ เข้าถึงการคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพ ไขข้อสงสัยปัญหาต่าง ๆ ซึ่งศูนย์ฯจะต้องส่งรายงานมาให้ สปสช.ทุกเดือน ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเป็นหน่วยงานรับเรื่องฯ เป็นหน่วยงานอิสระที่มีหน้าที่ดูแลแก้ไขกรณีผู้รับบริการได้รับผลกระทบจากการบริการ ที่ไม่เป็นไปตามสิทธิ หน่วยรับเรื่องฯ จะต้องตรวจสอบประสานกับหน่วยบริการ เช่น สาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในพื้นที่ฯ เพื่อแก้ไขปัญหา หรือกรณีผู้รับบริการได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต ก็ต้องประสานเพื่อให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เพื่อให้คนในชุมชนได้รับคุ้มครองสิทธิและได้รับการช่วยเหลือที่เป็นธรรม

“บางครั้งชาวบ้านมีปัญหาในการรับบริการ แต่ส่วนใหญ่จะไม่อยากโทรศัพท์มาสายด่วน 1330 เพื่อร้องเรียน บางคนก็กลัวว่าร้องเรียนไปจะไม่มีใครแก้ปัญหาให้ แต่เมื่อในชุมชนมีคนที่เขาไว้ใจว่ามาบอกแล้วได้จะได้รับความช่วยเหลือเขาก็จะเข้าหามากกว่า ดังนั้น ศูนย์ฯและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนฯ นี้ตอบโจทย์การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน ทำให้ลดปัญหาความบกพร่องในการดูแลผู้อยู่ในสิทธิหลักประกันฯ ได้ระดับหนึ่ง งานเหล่านี้เป็นงานอาสา สปสช.ไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้งผู้ที่มีอาสามาทำหน้าที่ต้องมีใจมุ่งมั่น และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนอยากจะทำก็ตั้งป้ายว่าเป็นศูนย์ฯ ได้ แต่ สปสช.จะมีกลไกที่คัดเลือกเพื่อให้การดำเนินการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นพ.รัฐพล กล่าวและว่า นอกจากนี้ ยังมีงานมิตรภาพบำบัดจากกลุ่มอาสาที่ให้ผู้ป่วยดูแลผู้ป่วยด้วยกัน เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ สปสช.ขับเคลื่อนโดยดึงพลังภาคประชาชนมาร่วมดำเนินการ

สอดคล้องกับ นายทองหล่อ ขวัญทอง ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จังหวัดยโสธร และหน่วยรับเรื่องร้องเรียน จังหวัดยโสธร ให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะไม่รู้ข้อมูลข่าวสารว่าตนเองก็มีสิทธิเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ แม้จะไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการคุ้มครองทางด้านสุขภาพอื่น ๆ แบบที่รัฐจัดให้ตามกฎหมาย แต่เมื่อ พ.ร.บ.หลักประกันฯ พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้และเกิดการจัดตั้งศูนย์ฯ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการวางกลไก ระบบบริหารจัดการที่ช่วยลดข้อจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารลงไปได้มาก โดยให้ศูนย์ฯ เป็นผู้สร้างองค์ความรู้ให้กับทุกคนในชุมชนได้รู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น สิทธิตามบัตรทองที่จะได้รับมีอะไรบ้าง สิทธินั้นได้มาอย่างไร สำรวจสิทธิของตนเองยังไง หรือใครที่ยังไม่เคยลงทะเบียนในระบบไปทำได้ที่ไหน เป็นต้น

“แม้หน่วยงานส่วนกลางทั้ง สปสช. หรือโรงพยาบาลจะพยายามที่จะแจ้งข่าวสาร สิทธิประโยชน์มายังชาวบ้าน แต่ด้วยภาระงานและข้อจำกัดในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการสื่อสารส่วนใหญ่จะสื่อสารมาทางเดียว ชาวบ้านมีข้อสงสัยอยากจะดูย้อนหลังก็ไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นข้อมูลแผ่นพับเขาก็ยิ่งไม่รู้สึกอยากอ่าน ๆ 4-5 บรรทัดก็เลิกเพราะเป็นการสื่อสารแบบตาย ๆ แต่กลับกันพอให้ศูนย์ฯ มาดูแลใช้บุคคลเป็นสื่อทำงานบรรยากาศจะเปลี่ยนไป ผ่อนคลายขึ้น ได้มองหน้ามองตาเวลาพูดคุยภายใต้วัฒนธรรมเดียวกัน สงสัยอะไรถามมาก็ได้คำตอบทันที จากที่คลุกคลีทำงานมาหลายปีผมเห็นผลชัดเจนว่าชาวบ้านในพื้นที่มีความรู้และเข้าใจเรื่องสิทธิที่เขามีมากขึ้น เวลามีปัญหาเขาจะนึกถึงและเดินมาขอคำแนะนำจากเรา ขณะเดียวกันหากมีกรณีปัญหาเกิดกับชาวบ้านที่มีสิทธิในภูมิลำเนาอื่น แต่มีปัญหาในการรับบริการตามสิทธิบัตรทองในพื้นที่ที่เราดูแลศูนย์ฯ ก็ช่วยเหลือตรวจสอบข้อมูลและประสางานกับศูนย์ฯต้นทางเพื่อรับเรื่องไปดูแลต่อได้ เกิดเป็นการสร้างเครือข่ายที่สะท้อนภาพการทำงานของศูนย์ฯได้เต็มภาคภูมิ” นายทองหล่อ ย้ำถึงจุดแข็ง

ในบทบาทการเป็นหน่วยร้องเรียนฯ นายทองหล่อ เล่าว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ตนได้รับร้องเรียนมานั้นก็จะเป็นปัญหาที่หารือทั่ว ๆ ไปแก้ไขได้ด้วยกลไกของศูนย์ฯ และกรณีที่ชาวบ้านต้องเผชิญเหตุการณ์ที่ส่งผลเสียหายโดยไม่รู้ว่ากำลังเสียสิทธิ ไม่ได้รับการดูแล เช่น ได้รับการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดอาจถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต ตรงนี้ก็เราต้องเข้าไปช่วยดูแลจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แต่หากเรื่องอาจจะรุนแรงก็ต้องส่งต่อไปยังหน่วยงานกลาง เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องต้องผ่านกระบวนการคัดกรอง เรื่องใดแก้ไขเบื้องต้นได้เองก็ต้องทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากระบบบริการ ขณะเดียวกันเราต้องทำหน้าที่ลดแรงปะทะระหว่างผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ช่วยไกล่เกลี่ยและเชื่อมประสานเพื่อไม่ให้ผู้ร้องทุกข์เสียสิทธิ ซึ่งเป็นงานที่ต้องทำด้วยความเข้าใจและจริงใจ อย่างไรก็ตาม การทำงานทุกอย่างจะประสบความสำเร็จได้หากทำให้ชาวบ้านและชุมชนเชื่อมั่นและศรัทธาในระบบ รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของระบบ ไม่ใช่แค่ผู้รับบริการในระบบเท่านั้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น