xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ กฟก.ลงพื้นที่ปัตตานีช่วยเกษตรกรหลังน้ำในเขื่อนแห้งขอด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี - เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ลงพื้นที่ อ.ยะรัง เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำในเขื่อนชลประทานปัตตานี หลังวิกฤตเนื่องจากสภาพน้ำหน้าเขื่อนแห้งขอด และไม่มีน้ำพอที่จะช่วยระบายลงสู่แม่น้ำท้ายเขื่อน จนส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

วันนี้ (3 เม.ย.) นายวัชระพันธุ์ จันทรขจร เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) ลงพื้นที่ อ.ยะรัง เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำในเขื่อนชลประทานปัตตานี หลังกำลังวิกฤต เนื่องจากสภาพน้ำหน้าเขื่อนแห้งขอด และไม่มีน้ำพอที่จะช่วยระบายลงสู่แม่น้ำท้ายเขื่อน จนส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ตลอดจนประชาชนที่เลี้ยงปลาในกระชัง และยังกำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เกิดจากน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะไม่สามารถจะระบายน้ำเข้าช่วยเหลือชาวนาพื้นที่ท้ายเขื่อนในหลายอำเภอ ที่กำลังได้รับผลกระทบในช่วงหน้าแล้งไม่สามารถทำนาปรังที่ใกล้จะมาถึงนี้ ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเกิดจากเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มีการชะลอการระบายน้ำ เนื่องจากมีการซ่อมแซมใบพัดเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าในรอบ 30 ปี

จากนั้นได้เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหา และความต้องการของชาวนาในพื้นที่บ้านสะกำ อ.มายอ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบหนักจากภัยแล้ง และข้าวกำลังใกล้เข้าฤดูการเก็บเกี่ยว และมีปัญหาเรื่องหนี้สิน จึงมีการยื่นความจำนงขอให้ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เข้าช่วยเหลือดูแลอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เรื่องช่วยปลดโอนหนี้สิน กับการส่งเสริมช่วยเหลือปรับปรุงพื้นที่นาร้าง การสนับสนุนช่วยเหลือพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ตลอดจนช่วยเหลือด้านตลาด ที่กำลังเป็นปัญหาส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ จนชาวนาต้องขาดโอกาส เป็นหนี้สิน และต้องปล่อยให้พื้นดินนาเป็นนาร้างเป็นจำนวนมาก

นายวัชระพันธุ์ เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) กล่าวว่า ปัญหาน้ำที่เขื่อนชลประทานปัตตานี เหือดแห้งเพราะเขื่อนบางลางทำการซ่อมแซมต้องหยุด และทำความสะอาดเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้านั้น ตนได้รับคำยืนยันจากผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำชลประทานปัตตานีว่า ในเดือน พ.ค.นี้ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และจะช่วยแก้ไขเหตุวิกฤตได้ลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ในเขต 5 ภาคใต้ ประกอบไปด้วย สตูล สงขา ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ได้มีการหารือแนวทางช่วยเหลือในขั้นต้น ร่วมกับ ศอ.บต ซึ่งเคยดำเนินโครงการฟื้นฟูนาร้างมาก่อนนี้แล้วว่าจะร่วมเดินหน้าช่วยกันให้สอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะหน่วยงานของ กฟก. ในพื้นที่ขณะนี้เองก็มีความพร้อมทุกด้าน

โดยการนำร่องจากเกษตรกรในกองทุนกว่า 30,000 ราย ที่ได้รับผลกระทบเข้าสู่โครงการของการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาทั้งหนี้สิน โดยเฉพาะในเรื่องของการเร่งฟื้นฟูที่นาให้เกิดเป็นนาข้าว ตลอดจนเรื่องผลผลิตที่จะให้เพิ่มขึ้น และเรื่องส่งเสริมให้เพิ่มการปลูกข้าวเป็นอาหารนกเพราะตลาดเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีผู้เลี้ยงนกมาก และมีความต้องการสูงชาวนาจะได้ผลประโยชน์ และมีรายได้ในช่วงนี้ และจะทำเป็นโครงการต่อเนื่องจนกว่าจะสำเร็จ ทั้งนี้ จะเร่งประเมินผลการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร การจัดการหนี้ของเกษตรกร พร้อมทั้งเดินหน้าเป็นเชิงนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญ และเร่งด่วนของกองทุน กฟก. ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
   

กำลังโหลดความคิดเห็น