ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ม็อบเครือข่ายหนี้สินชาวนาบุกศาลากลางเชียงใหม่ ตั้งเต็นท์-เวทีให้ความรู้เกษตรกรเรื่องใช้สิทธิกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร แจงกองทุนต้องรับชำระหนี้แทนตามมติ ครม. แต่ถึงวันนี้เกษตรกรยังไม่รู้เรื่อง-ไม่เข้าใจ อ้อนขอใช้ศาลากลางจังหวัด 3 วัน
กลุ่มเกษตรกรในนามเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ชุมนุมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ (4 พ.ย.) โดยระบุว่าการมาชุมนุมเพื่อให้ความรู้เกษตรกรภาคเหนือเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง
กลุ่มเกษตรกรซึ่งมาจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนและล่างประมาณ 1,000 คน ชุมนุมตั้งแต่ช่วงเช้า โดยตั้งเวทีและเต็นท์พักอาศัย พร้อมแจ้งว่าจะชุมนุมในบริเวณดังกล่าวตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยจะเปิดเวทีชี้แจงการดำเนินงานของกองทุนฯ ในวันนี้ ส่วนวันที่ 5-6 พฤศจิกายนจะรับแจ้งความประสงค์ให้กองทุนฯ เป็นผู้ชำระหนี้แทนเกษตรกร
การชุมนุมครั้งนี้สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา ให้กองทุนฯ ทำหน้าที่ชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร โดยได้รับงบประมาณ แยกเป็นค่าใช้จ่ายปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 945 ล้านบาทเศษ กับอีก 1,300 ล้านบาทสำหรับชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งแบ่งเป็นฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร 500 ล้านบาท และชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เดิมแทนเกษตรกรผู้มีสิทธิปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 อีก 600 ล้านบาท โดยชำระเงินต้นร้อยละ 50 ของเงินต้นหนี้ทั้งหมด ส่วนเงินต้นที่เหลือและดอกเบี้ยจะลดลงไป ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถชำระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ทั้งหมด จากนั้นเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ จึงค่อยชำระหนี้กับกองทุนฯ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี โดยต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 20 ปี
ทั้งนี้ เกษตรกรที่ต้องการใช้สิทธิต้องยื่นเอกสารไปยังกองทนฯ เพื่อขอให้ช่วยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เดิมก่อน อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีเกษตรกรจำนวนมากที่ไม่เข้าใจกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมกองทุนฯ หรือจัดทำเอกสารประกอบยื่นต่อกองทุนฯ เป็นต้น ทำให้กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยเกรงว่าเกษตรกรจำนวนมากจะเสียโอกาส จึงได้จัดการชุมนุมเพื่อให้ความรู้เรื่องดังกล่าว
นายวโรภัทร แสงจันทร์ แกนนำกลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มเกษตรกรจะขอจัดกิจกรรมที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 3 วัน โดยมีเกษตรกรภาคเหนือ 8 จังหวัด ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อชี้แจงให้เกษตรกรได้ทราบถึงผลประโยชน์ที่สมาชิกกองทุนฯ จะได้รับ รวมทั้งเพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนการใช้สิทธิอย่างถูกต้อง เพราะมีเกษตรกรจำนวนมากที่ต้องการเข้าร่วมเพื่อให้กองทุนฯ ชำระหนี้สินที่ติดค้างอยู่กับ ธ.ก.ส.แทน แต่ไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง
ขณะเดียวกันยังหวังว่าการจัดกิจกรรมจะเป็นการกระตุ้นให้กองทุนฯ ในพื้นที่และส่วนกลางดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมากองทุนฯ ยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนฯ
นายวโรภัทรกล่าวว่า เกษตรกรในภาคเหนือที่จะได้รับประโยชน์จากการชำระหนี้แทนของกองทุนฯ มีประมาณ 22,000 ราย ขณะที่เกษตรกรรายอื่นหากมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ ซึ่งได้แก่เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนหนี้กับกองทุนฯ ไว้แล้ว มีหนี้สินไม่เกิน 2,500,000 บาท และเป็นหนี้ก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2552 สามารถยื่นขอใช้สิทธิได้เช่นกัน
โดยหลังจากเสร็จสิ้นการจัดกิจกรรมทั้ง 3 วันแล้ว ทางเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยจะได้รวบรวมรายชื่อและเอกสารจากเกษตรกรเพื่อส่งให้กองทุนฯ นำไปดำเนินการต่อไป โดยการเคลื่อนไหวของเกษตรกรครั้งนี้เป็นปัญหาเรื่องปากท้องและการชำระหนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมทั้งจะไม่สร้างความเดือดร้อน หรือจัดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อศาลากลางจังหวัดแน่นอน