“หมอประกิต” เสนอแก้กฎหมาย ให้เจ้าหน้าที่ สธ. ออกใบสั่งเอาผิดคนสูบบุหรี่พื้นที่ห้ามสูบ เหมือนคนทำผิดกฎจราจร ชี้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยาก ยาวนาน เจ้าหน้าที่ไม่อยากทำงาน เชื่อคนทำผิดน้อยลง เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายจริงจังขึ้น
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า แนวทางการลดการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะให้ได้ผลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1. ทำให้ทุกคนรู้ถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง 2. ทำให้คนรู้ถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ 3. บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไทยยังมีปัญหาทั้งหมด ถึงแม้คนไทยจะมีความรู้เรื่องอันตรายของควันบุหรี่มากขึ้น แต่การรับรู้กฎหมายยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ทั้งที่มีการประกาศสถานที่ห้ามสูบแล้ว แต่ยังขาดการรณรงค์หรือให้ข้อมูลอย่างจริงจัง ส่วนการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการยาวนาน ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการจะปรับคนที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งต้องแก้ไข ควรมีการให้ความรู้เรื่องสถานที่ห้ามสูบด้วยการติดสติกเกอร์แสดงสัญลักษณ์ห้ามสูบ
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ส่วนขั้นตอนที่ยาวนานในการดำเนินการกับผู้ทำผิดกฎหมายสูบบุหรี่ เสนอว่าควรปรับด้วยการออกเป็นใบสั่ง เหมือนคนทำผิดกฎจราจร ผู้ที่ทำผิดแล้วถูกใบสั่งก็ต้องไปเสียค่าปรับตามเวลาที่กำหนดภายใน 2 สัปดาห์ โดยให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ได้รับแจ้งเป็นผู้ออกใบสั่ง ส่วนประชาชนทั่วไปเมื่อเจอคนฝ่าฝืนกฎหมายโดยสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบ เช่น ในร้านอาหาร ควรแจ้งให้เจ้าของร้านทราบ เพื่อตักเตือนผู้กระทำผิด หากเจ้าของร้านนิ่งเฉยก็จะมีความผิดด้วย แต่ถ้าตักเตือนแล้วไม่เชื่อ ผู้สูบบุหรี่จะมีความผิดเพียงคนเดียว และเจ้าของร้านจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ สธ. รับทราบ
“ถ้ามีการปรับแก้กฎหมายให้ขั้นตอนการเอาผิดสั้นลง จะต้องมีการระบุด้วยว่าเมื่อพบเจอผู้ที่สูบในพื้นที่ห้ามสูบจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ที่ไหน อย่างไร เพราะปัจจุบันปัญหาส่วนหนึ่งคือ ประชาชนไม่ทราบว่าจะต้องแจ้งใคร หากปรับเป็นรูปแบบของใบสั่งได้จะลดเวลาในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ จากที่ปัจจุบันต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง เจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายก็ไม่อยากทำ ท้ายที่สุดจะช่วยลดการฝ่าฝืนการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบ เพราะมีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นและจริงจัง ซึ่งปัจจุบันแทบจะไม่มีการเอาผิดเลย” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่