xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดกู้ชีพทางน้ำ “รพ.เกาะช้าง” ดูแลส่งต่อได้ใน 10 นาที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ยามเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุต่างๆ หรือโรคเรื้อรังกำเริบ เช่น เส้นเลือดในสมองแตก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเวลา ยิ่งใช้เวลาในการส่งตัวผู้เจ็บป่วยไปยังโรงพยาบาลน้อยเท่าไร หรือนั่นคือไปถึงมือหมอเร็วมากเท่าไร ก็ยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ลดความเสี่ยงพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือกรณีร่างกายไม่สามารถคืนมาเป็นปกติลงได้ บนพื้นฐานของการส่งตัวผู้ป่วยอย่างถูกวิธี

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการเดินทางส่งตัวผู้ป่วยทางบกที่มีความรวดเร็ว หลายครั้งก็ยังพบกับปัญหาความล่าช้า แล้วพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล เช่น ตามหมู่เกาะ ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ หรือโรคเรื้อรังกำเริบ จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่โรงพยาบาลในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรักษาผู้ป่วยได้ จึงจำเป็นต้องส่งผู้ป่วยเข้าไปยังตัวเมือง การเดินทางก็ข้ามน้ำข้ามทะเลก็ยิ่งใช้เวลานานมากขึ้น

แต่สำหรับ รพ.เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง แม้จะยังไม่สามารถรักษาโรคประจำตัวกำเริบอย่าง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเส้นเลือดในสมองแตกได้ แต่กลับมีการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จนสามารถช่วยเหลือส่งต่อผู้ป่วยข้ามทะเลไปยังโรงพยาบาลในตัวเมืองตราดได้ภายใน 10 นาที

นพ.ฤชุพงศ์ ผู้ภักดี ผู้อำนวยการ รพ.เกาะช้าง อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ รพ.เกาะช้าง สามารถพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างประสบความสำเร็จว่า เพราะพื้นที่เกาะช้างมักพบปัญหาจมน้ำทะเลจากกระแสน้ำดูดออก (Rip Currents) บ่อยครั้ง อย่างปี 2556 พบ 43 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมไปถึงประชาชนบนเกาะมีโรคประจำตัวเกิดอาการกำเริบ ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเส้นเลือดในสมองแตกปีละประมาณ 7 - 10 ราย จึงต้องมีการพัฒนาระบบขึ้นเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้ ตามนโยบายการจัดบริการเขตสุขภาพ ซึ่งจะเชื่อมต่อบริการของโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดและระหว่างจังหวัดให้เป็นเนื้อเดียวกัน
นพ.ฤชุพงศ์ ผู้ภักดี ผู้อำนวยการ รพ.เกาะช้าง
สำหรับการดำเนินงานนั้น นพ.ฤชุพงศ์ เล่าว่า ในกลุ่มโรคประจำตัวกำเริบนั้น ก่อนอื่นคือต้องมีการให้ข้อมูลความรู้แก่กลุ่มเสี่ยงโรคดังกล่าวก่อน ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถสังเกตลักษณะอาการสำคัญของเจ็บหน้าอกของตนเองได้ โดยต้องให้ความรู้ทั้งผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับอาการและสัญญาณเตือนของโรค ซึ่งได้มีการลงไปอธิบายถึงบ้านผู้ป่วย พร้อมติดโปสเตอร์วิธีการสังเกตอาการ และวิธีการช่วยฟื้นคืนชีพ และเบอร์โทร. ติดต่อไว้ที่บ้านและมองเห็นสะดวก โดยจะเน้นให้ โทร. 1669 เพื่อเรียกใช้บริการมาถึงโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วและปลอดภัย พร้อมทั้งอนุญาตในการทำปฐมพยาบาลเมื่อมีอาการด้วย นอกจากนี้ ยังจัดทำบัตรสมาชิก EMS Member Club ให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 50 ราย หากเกิดอาการขึ้น เมื่อญาติผู้ป่วยโทรศัพท์แจ้งสายด่วนของโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จะสามารถรู้ประวัติผู้ป่วยและแผนที่บ้าน ซึ่งสามารถเดินทางไปรับตัวผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วภายใน 10 นาที

ด้าน นางปนัสษดา เพียรหลำ พยาบาลวิชาชีพ หัวหน้าห้องฉุกเฉิน รพ.เกาะช้าง กล่าวว่า แต่หากอาการของผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในเมือง ก็จะต้องพิจารณาว่าเป็นเคสเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด กระทบกระเทือนระหว่างการเดินทางได้หรือไม่ หากเร่งด่วนมากและสามารถกระทบกระเทือนระหว่างการเดินทางได้ ก็จะส่งตัวผู้ป่วยทางเรือด่วน ซึ่งจากเกาะช้างไปถึงตัวเมืองตราดใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น หากรวมเวลาในการส่งตัวผู้ป่วยจากรถไปท่าเรือก็ประมาณ 2 นาที ทางเรือไม่เกิน 10 นาที และจากท่าเรือแหลมงอบไปยัง รพ.ตราด ก็ไม่เกิน 15 นาที ก็ใช้เวลาในการส่งต่อเพียงไม่เกิน 30 นาที เท่านั้น ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยไปถึง รพ.ตราด เพื่อรับการรักษาได้อย่างปลอดภัย ซึ่งหากเดินทางทั่วไปต้องใช้เวลาอย่างน้อย 90 นาที แต่กรณีไม่เร่งด่วนมากนัก แต่ร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถกระทบกระเทือนต่อความเร็วของเรือด่วนได้ ก็จะเดินทางไปโดยรถพยาบาลไปกับเรือเฟอร์รีแทน

ส่วนการช่วยเหลือคนจมน้ำทะเล นางปนัสษดา กล่าวว่า ส่วนใหญ่พบว่านักท่องเที่ยวไม่รู้จักทะเลดูด จึงจัดทำป้ายเตือนและให้ความรู้ พร้อมปักธงสีแดงหน้าหาด เมื่อสังเกตกระแสน้ำทะเลแล้วอาจเกิดทะเลดูดได้ ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจง่ายขึ้นและไม่ลงเล่นน้ำ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำตามจุดเสี่ยง 5 จุด เพื่อคอยดูแล นอกจากนี้ ยังอบรมเพิ่มทักษะการปฐมพยาบาลและการช่วยคืนชีพจากการจมน้ำให้แก่เจ้าหน้าที่ด้วย สำหรับกรณีเกิดผู้ป่วยจำนวนมาก รพ.เกาะช้างได้แบ่งโซนพ้นที่รับผิดชอบคนละครึ่งกับคลินิกอินเตอร์ หากเกิดผู้ป่วยเกินความสามารถ อีกทีมก็พร้อมออกไปช่วยเหลือทันที
 

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น