xs
xsm
sm
md
lg

พบว่างงานช่วง เม.ย.กว่า 6 พันคน ก.จับกัง ชี้ไม่น่าห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก. แรงงาน เผยสถานการณ์ ตลาดแรงงานช่วง เม.ย. พบว่างงานกว่า 6 พันคน ชี้ยังไม่น่าห่วง แต่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง

วันนี้ (22 พ.ค.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน ได้รายงานผลสรุปภาวะเศรษฐกิจแรงงาน ว่า ภาวการณ์จ้างงานในตลาดแรงงานเดือนเมษายน 2557 อยู่ในภาวะปกติ โดยในระบบประกันสังคม มีลูกจ้างที่มีนายจ้างและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33 จำนวน 9,794,974 คน มีอัตราการขยายตัว ร้อยละ 2.93 หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 278,870 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนเมษายน 2556) ซึ่งอยู่ที่ 9,516,104 คน แต่หากพิจารณาอัตราการเปลี่ยนแปลงของเดือนเมษายน 2557 เทียบกับเดือนมีนาคม 2557 ในเดือนเมษายนขยายตัว อยู่ที่ร้อยละ 3.10 สถานการณ์จ้างงานขยายตัวมากกว่า ร้อยละ 1 จึงถือว่าสถานการณ์การจ้างงานอยู่ในภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในปี 2557 ชะลอตัวลดลงต่อเนื่องมา 4 เดือนนับจากเดือนธันวาคม 2556 เป็นต้นมา

นายจีรศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์การเลิกจ้างว่า มีผู้ที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จากสำนักงานประกันสังคม ในเดือนเมษายน 2557 จำนวน 6,504 คน ถือเป็นอัตราการชะลอตัวอยู่ที่ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าอัตราการชะลอตัว อยู่ที่ร้อยละ 19.58 (6,705 คน) แต่เมื่อเทียบกับการเลิกจ้างในเดือนมีนาคม 2557 พบว่าขยายตัวขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 16.87 (5,154 คน) ดังนั้น สถานการณ์เลิกจ้างยังไม่น่าเป็นห่วงแต่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ เนื่องจากตัวเลขการเลิกจ้างมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.19 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถือว่าการเลิกจ้างอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากยังต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 3 ปี ในช่วงเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 41.01

ด้าน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความต้องการแรงงานในเดือนเมษายน ว่า มีสถานประกอบการแจ้งตำแหน่งงานว่างมายัง กกจ. จำนวน 36,104 อัตรา เป็นชาย 5,085 อัตรา หญิง จำนวน 3,088 อัตรา และไม่ระบุจำนวน 27,931 อัตรา โดยลดลงจากเดือนที่ผ่านมาจำนวน 3,963 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 9.89 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วยเดียวกันของปีก่อนพบว่าลดลง จำนวน 34,361 อัตรา หรือร้อยละ 48.76 หากพิจารณาแยกเป็นความต้องการแรงงานตามประเภทอาชีพ พบว่าอาชีพด้านพื้นฐาน อย่าง แรงงานด้านการประกอบ แรงงานบรรจุภัณฑ์ มีความต้องการแรงงานมากที่สุด จำนวน 11,228 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 31.10 รองลงมาคือ พนักงานด้านบริการ พนักงานขายในร้านค้า จำนวน 7,017 อัตรา คิดเป็นร้อยละ19.42เสมียน เจ้าหน้าที่ จำนวน 5,847 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 16.19

นายประวิทย์ ยังกล่าวถึงการบรรจุงานของ กกจ. ว่า ในเดือนมีนาคม สามารถบรรจุงานให้ผู้สมัครงานได้ 30,806 คน สร้างรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับการบรรจุงานประมาณ 619,600,616 บาทต่อเดือน ส่วนผลการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าวทั่วราชอาณาจักร จำนวน 149,681,257 บาท นอกจากนี้ รายได้ส่งกลับจากการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย มีจำนวน 7,456,000,000 บาท

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น