xs
xsm
sm
md
lg

เร่งขึ้นทะเบียนนายหน้าแรงงานต่างด้าว เหตุกฤษฎีกาชี้ชัดต้องเป็นไปตามเอ็มโอยู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกจ.เร่งขึ้นทะเบียนนายหน้าจัดหางานแรงงานต่างด้าว หลัง คกก.กฤษฎีกาตีความนายหน้านำแรงงานต่างด้าวเข้าผ่านเอ็มโอยูต้องจดทะเบียนจัดหางาน

นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือปัญหาอุปสรรคของผู้รับอนุญาตจัดหางานในประเทศ กรณีการจัดหา/นำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ว่า ในที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการปฏิบัติในการบริหารจัดการนายหน้าที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทย จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ถึงเรื่องที่นายหน้าที่ยื่นขอนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยผ่านระบบบันทึกข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) จะต้องยื่นจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตจัดหางานในประเทศเช่นเดียวกับผู้จัดหางานให้แรงงานไทย โดยยื่นจดทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดในฐานะนายทะเบียนตามกฎหมาย ในพื้นที่ที่นายหน้าดำเนินการอยู่ หากไม่มาจดทะเบียน จะมีโทษตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.จัดหางานฯ โทษฐานจัดหางานโดยไม่มีใบอนุญาตมีโทษ จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ได้รับใบอนุญาตไปจัดหาแรงงานนอกเขตพื้นที่ที่จดทะเบียนไว้จะต้องแจ้งต่อนายทะเบียนจังหวัด หากไม่แจ้งจะมีโทษตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.จัดหางานฯ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง กกจ.ได้ประชาสัมพันธ์ให้นายหน้าที่จัดหาแรงงานต่างด้าวมายื่นจดทะเบียน มีผู้มาจดทะเบียนแล้ว 179 ราย และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 8 ราย

“นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีแนวคิดว่า ควรจะแยกผู้ได้รับใบอนุญาตให้จัดหางานในประเทศระหว่างผู้จัดหางานให้แรงงานไทยกับผู้จัดหางานให้แรงงานต่างด้าวออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างสะดวกและมีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจนหากเกิดความเสียหายขึ้น รวมทั้งควรเพิ่มวงเงินประกันกรณีนายหน้ายื่นจดทะเบียนขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทยให้มากกว่าผู้ได้รับอนุญาตจัดหาแรงงานไทยที่ปัจจุบันวงเงินอยู่ที่ 100,000 บาท ซึ่งต้องพิจารณาอัตราที่เหมาะสมต่อไป” นายวินัย กล่าวและว่า ส่วนกรณีขอจัดตั้งสำนักงานสาขานอกจังหวัดที่จดทะเบียนผู้ได้รับอนุญาตให้จัดงานภายในประเทศ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวไม่สามารถทำได้ เนื่องจากถือเป็นการดำเนินการนอกพื้นที่

รองอธิบดี กกจ.กล่าวต่อไปว่า อีกทั้งยังเห็นว่าไม่ควรสนับสนุนนายหน้าที่จัดหาแรงงานต่างด้าวมายื่นขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) เนื่องจากไม่ใช่นายจ้างตัวจริง เป็นการขอโควตานำเข้าแรงงานต่างด้าวเทียม เพื่อนำแรงงานส่งไปให้นายจ้างที่ประกอบกิจการจริงอีกทอดหนึ่ง เนื่องจากกรณีนี้หากเกิดปัญหากับแรงงานต่างด้าว อาทิ การเลิกจ้าง นายหน้าที่จัดหาแรงงานมาก็ไม่สามารถรับผิดชอบค่าชดเชยต่างๆ ได้เนื่องจากเป็นจำนวนเงินที่สูงส่วนมากจึงมักจะหลบหนี ซึ่งอาจทำให้ถูกต่างชาติ มองว่าไทยไม่ดูแลแรงงานต่างด้าวและนำไปสู่ปัญหาในเรื่องการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ตนจะนำข้อสรุปในที่ประชุมเสนอต่อ นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกกจ.ต่อไป
 


กำลังโหลดความคิดเห็น