สถาบันครอบครัวถือว่าเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์เรามากที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้นในการหล่อหลอมพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของคนเรา ซึ่งบุคคลที่มีบทบาทในการเลี้ยงดู กล่อมเกลา อบรม สั่งสอน และหล่อหลอมลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเด็กมากที่สุด ก็คือ พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กนั่นเอง ดังนั้น พ่อแม่จึงจำต้องมีความระมัดระวังที่จะไม่ทำสิ่งผิดพลาด ซึ่งจะก่อให้เด็กๆ มีปัญหาทางพฤติกรรมที่จะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต ซึ่งสิ่งที่พ่อแม่มักผิดพลาดในการเลี้ยงดูลูกมักจะไดัแก่...
1.การลงโทษที่ไม่เหมาะสม มีการถกเถียงกันอย่างมากมายว่าเมื่อเด็กทำผิดควรมีการลงโทษหรือไม่ เพราะมีทั้งงานวิจัยที่กล่าวว่าเมื่อเด็กๆ ทำผิด ควรได้รับการตักเตือนว่ากล่าวหรือทำโทษด้วยการตีที่มีเหตุผล และมีงานวิจัยที่กล่าวว่าไม่ควรลงโทษเด็กด้วยการตีเลย เพราะจะสร้างความโกรธให้กับลูกโดยไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ดีของลูกได้
ในความคิดของผู้เขียนเห็นว่า การลงโทษทำได้แต่ต้องมีเหตุผลและไม่ควรลงโทษอย่างรุนแรง อย่างเช่น กรณีที่ลูกอายุ 6-8 ขวบ ทำแก้วแตกโดยไม่ตั้งใจ พ่อแม่ต้องตักเตือนว่ากล่าวให้มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ไม่ควรลงโทษโดยการตี เพราะลูกไม่ได้ตั้งใจ แต่หากเป็นกรณีที่อยู่ดีๆ ลูกอายุ 6-8 ขวบ เอาแก้วโยนลงกับพื้นอย่างจงใจจนแก้วแตก พ่อแม่ต้องเรียกว่าคุยถามเหตุผลว่าทำไมถึงทำเช่นนั้น ถ้าเด็กยังแสดงท่าทางก้าวร้าวดื้อรั้นอาจต้องลงโทษด้วยการตีที่มือและอบรมสั่งสอนลูกไปด้วย พร้อมให้เหตุผลว่าทำไมลูกต้องถูกตี แต่จำไว้ว่าอย่าตีเพื่อระบายอารมณ์โกรธของพ่อแม่และอย่าทำด้วยความรุนแรง ที่ตีเพื่อตัองการอบรมหรือขัดเกลานิสัยของลูก เพื่อที่จะให้ลูกสำนึกผิด เข็ดหลาบและรู้ว่าไม่ควรทำความผิดนั้นอีก
2. การลำเอียงรักลูกไม่เท่ากัน บางครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน พ่อแม่อาจจะให้ความรักและการเอาใจใส่ให้ลูกแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น รักลูกคนเล็กมากกว่าลูกคนโต รักลูกชายมากกว่าลูกสาว รักคนที่เรียนเก่งมากกว่าคนที่เรียนอ่อน ซึ่งการแสดงออกถึงความรักที่ไม่เท่ากันนั้นเป็นสิ่งที่ลูกๆสัมผัสได้ ยิ่งถ้ามีการแสดงออกที่เปรียบเทียบชัดเจน ลูกจะรู้สึกเสียใจและมีความทุกข์มาก เช่น กอดแต่ลูกสาวไม่เคยกอดลูกชายเลย หรือพูดชมแต่ลูกคนที่เก่งแต่ติเตียนลูกคนที่ด้อยกว่าตลอดเวลา พฤติกรรมผิดพลาดที่พ่อแม่แสดงออกเหล่านี้ อาจจะทำให้เด็กคนที่ไม่ได้รับความรักหรือความภูมิใจจากพ่อแม่กลายเป็นเด็กที่มีปมด้อย ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ขี้อิจฉา หวาดระแวงและอาจส่งผลรุนแรงมากไปถึงการก้าวร้าว อารมณ์รุนแรงและประชดชีวิตด้วยการทำตัวไม่ดี
3.การระบายอารมณ์ใส่ลูกและด่าว่าลูกด้วยถ้อยคำหยาบคาย มีพ่อแม่หลายคนที่เห็นลูกเป็นที่รองรับอารมณ์ บางทีอารมณ์เสียมาจากที่อื่นก็มาลงกับลูก เพราะรู้ว่าลูกไม่สามารถตอบโต้ได้ บางครั้งเมื่อลูกทำอะไรขวางหูขวางตาอย่างไม่ตั้งใจก็ด่าว่าลูกด้วยถ้อยคำหยาบคาย ประจานให้อับอาย เสียดสีประชดประชัน ขึ้นมึงขึ้นกู ทำให้ลูกรู้สึกเสียใจ เจ็บใจ อับอายและเป็นทุกข์ ซึ่งถ้าพ่อแม่ทำร้ายลูกด้วยพฤติกรรมเช่นนี้บ่อยๆ จะส่งผลให้ลูกเป็นคนมีนิสัยดุร้าย ก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรง มีจิตใจหยาบกระด้างและมีพฤติกรรมที่หยาบคายตามอย่างพ่อแม่ได้
4.การไม่เข้าใจธรรมชาติของลูก เชื่อหรือไม่ว่ามีพ่อแม่หลายต่อหลายคนที่ขาดความเข้าใจในตัวลูกและไม่มีความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย จึงทำให้มีพ่อแม่มากมายที่ทำในสิ่งที่ผิดพลาดกับลูกๆ ของตนเอง เช่นบังคับให้ลูกในวัย2-3ขวบต้องเขียนหนังสือให้ได้ ทั้งๆที่เด็กในวัยนี้ยังมีกล้ามเนื้อมือที่ยังไม่พร้อมที่จะจับดินสอได้ หรือการที่มีพ่อแม่บางคนบังคับให้ลูกเรียนหรือสอบเข้าในสิ่งที่ลูกไม่ชอบหรือไม่มีความถนัด โดยอ้างว่าทำเพื่ออนาคตของลูก
ผู้เขียนมีเพื่อนคนหนึ่งที่ถูกพ่อแม่บังคับมากในเรื่องการเรียนตั้งแต่เด็กๆ โดยเพื่อนคนนี้ต้องไปเรียนพิเศษตลอดเวลา จนไม่เคยมีวันหยุดเหมือนกับเด็กคนอื่นๆเลย เพื่อนคนนี้เคยมาบ่นกับผู้เขียนบ่อยๆว่าเบื่อเรียนมาก อยากจะมีเวลาหยุดพักไดัเที่ยวเล่นเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ บ้าง แต่ไม่รู้จะทำยังไง เพราะพ่อแม่จัดตารางชีวิตของเขาให้มีแต่การเรียนไม่เคยหยุด ในที่สุดเพื่อนคนนี้ประสบความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพราะสามารถสอบเข้าเรียนแพทย์ได้ แต่น่าสงสารและเสียดายเหลือเกินที่ไม่สามารถเรียนจนจบได้ เพราะเกิดความเครียดมากระหว่างเรียนจนมีปัญหาทางจิต ทำให้เรียนต่อไปไม่ไหว ต้องหยุดพักเรียนไปอย่างถาวร กรณีนี้เป็นกรณีที่น่าเห็นใจมากจริงๆ และเป็นตัวอย่างให้กับพ่อแม่หลายคนได้อย่างดี
หากคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองได้อ่านบทความนี้มาจนถึงบรรทัดนี้แล้วและรู้สึกว่าตัวเรายังมีข้อผิดพลาดในการเลี้ยงดูลูกอย่างหนึ่งอย่างใดใน4ข้อนี้ ผู้เขียนอยากให้กำลังใจว่ายังไม่สายที่เราจะหันมาดูแลเอาใจใส่ลูกของเราด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ความเข้าใจ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่นใดแต่เพื่อความสุขของลูกจริงๆ