xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยนิสัยเสีย “ยิ่งทุกข์ยิ่งกิน” ส่งผลอ้วน สุขบัญญัติแย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุขบัญญัติเด็กไทยน่าห่วง อยู่แค่เกณฑ์พอใช้ถึง 77% พบทั่วประเทศยังนิยมกินน้ำอัดลม ขนมหวาน อาหารจานด่วน แถมเวลาทุกข์ใจชอบระบายออกด้วยการกิน ส่งผลโรคอ้วน เร่งจับมือ ร.ร. สังกัด สพฐ. สร้างพฤติกรรมสุขภาพ

น.อ.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า วันที่ 28 พ.ค.ของทุกปี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดให้เป็นวันสุขบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพตามสุขบัญญัติแห่งชาติของนักเรียนอายุ 9-12 ปีทั่วประเทศ ในปี 2557 ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย อารมณ์สังคม และครอบครัว พบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้คือ ร้อยละ 77 ระดับปรับปรุงร้อยละ 18 ระดับดีเพียงร้อยละ 6 ข้อสังเกตคือ ด้านโภชนาการทุกภาคอยู่ในระดับพอใช้ และมีพฤติกรรมเสี่ยงคือดื่มน้ำอัดลม ขนมหวาน กินอาหารจานด่วน และด้านอารมณ์ พบว่า เมื่อมีความทุกข์จะระบายอารมณ์ด้วยการกิน นำไปสู่ภาวะโภชนาการเกินและโรคอ้วน

น.อ.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการสำรวจครั้งนี้สะท้อนว่าต้องเร่งปลูกฝังสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการให้แก่เด็ก โดยปีนี้ สบส. ได้ร่วมมือกับสมาคมสุขศึกษาแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนางานสุขศึกษาในสถานศึกษาให้มีมาตรฐาน และพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสุขศึกษา โดยจัดอบรมครูผู้แทนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 185 เขต ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้รับผิดชอบด้านอนามัยและสุขศึกษาทั่วประเทศ เน้นหนักเรื่องสุขบัญญัติ 10 ประการให้ใช้จริงในชีวิตประจำวันของเด็ก และจะประเมินผลที่สุขภาพของเด็กโดยตรง เช่น ฟันไม่ผุ เล็บมือเล็บเท้าสั้นสะอาด น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เป็นต้น

สำหรับสุขบัญญัติ 10 ประการ เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานในการดูแลสุขภาพร่างกาย ประกอบด้วย 1. การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2. การรักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี 3. การล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย 4. การกินอาหารปรุงสุก สะอาด ปราศจากสารอันตรายและหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด 5. การงดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ 6. การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7. การป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท 8. การออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี 9. การทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และ 10. มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสังคม การปฏิบัติสุขบัญญัติจนเป็นนิสัยจะทำให้มีสุขภาพดีตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น