xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ช่องหลบกฎอัยการศึก “คุยแชต” แทนงดโพสต์การเมืองระบายเครียด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเมืองไทยเครียดไม่หยุด พบคนขอปรึกษาสุขภาพจิตกว่า 1.2 หมื่นครั้ง เครียดจากเหตุการณ์บ้านเมือง 3.5% แนะให้ใช้ชีวิตตามปกติ หากิจกรรมผ่อนคลาย เตือนอย่าใช้โซเชียลมีเดียระบายเครียดการเมือง เสี่ยงขัดกฎอัยการศึกสั่งห้ามโพสต์ข้อความปลุกระดม ชี้ช่องคุยผ่านแชตกับคนคอการเมืองเดียวกันดีกว่า

นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. มีผู้รับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตผ่านสายด่วน 1323 จำนวน 12,104 ครั้ง สาเหตุที่ขอรับบริการมากที่สุดคือ ความเครียด/วิตกกังวล ร้อยละ 28.83 โดยในจำนวนนี้พบว่าเครียดจากสถานการณ์บ้านเมืองร้อยละ 3.53 ในประเด็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อ ญาติ/คนใกล้ชิดที่เข้าร่วมชุมนุมมีอารมณ์รุนแรง การรับฟังข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อ พูดคุยกับคนใกล้ชิดที่มีความเห็นต่าง จนมีอารมณ์ร่วมหรือหงุดหงิด สุดท้ายมาลงกับคนในครอบครัว และเกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้ ยังเกิดจากการประกอบอาชีพไม่ได้/รายได้ลดลง เดินทางลำบาก กลัวเกิดอันตรายกับคนในครอบครัว/เพื่อนที่เข้าไปร่วมชุมนุม และกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น

นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า ระดับความเครียดของคนไทยจะมีค่าคงที่ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงระดับความเครียดก็จะเพิ่มขึ้น ถือเป็นปฏิกิริยาปกติ ซึ่งหากดูแลจิตใจตัวเองไม่ดี ไม่มีการผ่อนคลายความเครียด ย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ หรืออาจเสียความสัมพันธ์ที่ดี เกิดความขัดแย้ง และนำไปสู่ความรุนแรงได้ การลดความเครียด/วิตกกังวลในช่วงนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ สามารถทำได้โดย 1. ใช้ชีวิตให้เป็นปกติมากที่สุด และหาวิธีผ่อนคลายตัวเอง 2. ไม่ติดตามข่าวสารต่อเนื่องนานๆ เพื่อให้สมองได้พักประมาณ 45 นาที - 1 ชั่วโมง

นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า 3. ตั้งสติและระมัดระวังการรับหรือส่งข้อมูลข่าวสารที่จะสร้างความเครียด เพิ่มความโกรธ ความเกลียดแค้นชิงชัง โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งขณะนี้ กอ.รส. ได้ออกคำสั่งห้ามเผยแพร่ข้อความปลุกระดม ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งสร้างความรุนแรงในสังคมออนไลน์ ดังนั้น ผู้ที่เคยระบายอารมณ์ ความรู้สึกอึดอัดผ่านโซเชียลมีเดีย ควรเปลี่ยนเป็นพูดคุยหรือส่งข้อความกับเพื่อนที่เข้าใจกันเพื่อระบายความอึดอัด 4. รักษาสมดุลชีวิต ทำหน้าที่การงานอย่างเต็มศักยภาพ ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ทำกิจกรรมผ่อนคลายร่วมกัน ถอนตัวออกจากเหตุการณ์การเมืองสักระยะ และ 5. รักษาสายสัมพันธ์ที่ดีของทุกคน อย่าให้เรื่องของการเมืองเข้ามามีอิทธิพล เมื่อเห็นต่างควรคุยกันโดยมีกติการ่วมกัน รับฟังกันไม่มุ่งเอาชนะ ถ้าคุยแล้วรุนแรงขึ้นจนระงับอารมณ์ไม่ได้ให้เลิกคุย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น