เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยความร่วมมือของอาจารย์และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ส่งต่อความรู้สู่น้อง ๆ “เด็กปัญญา” หรือกลุ่มเด็กนักเรียนผู้มีความบกพร่องทางสมอง ในโครงการ “งานปั้นเซรามิคสำหรับเด็กปัญญา” ณ โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
วีรศักดิ์ รักใหม่ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี สจล. กล่าวว่า กิจกรรม “งานปั้นเซรามิคสำหรับเด็กปัญญา” เป็นความร่วมมือของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. และโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โรงเรียนที่เปิดสอนกลุ่มเด็กนักเรียนผู้มีความบกพร่องทางสมอง หรือ “เด็กปัญญา” เพื่อส่งเสริมความรู้ในการประกอบอาชีพให้กับ “เด็กปัญญา” ซึ่งคนทั่วไปมักมองเด็กกลุ่มนี้ว่าไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากมีพัฒนาการทางสติปัญญาช้ากว่าเด็กทั่วไป แต่ความจริงแล้ว “เด็กปัญญา” มีทักษะด้านอื่น ๆ ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการทำงานเพื่อตอบแทนสังคมให้กับนักศึกษาของสถาบันฯ ตามนโยบายของ สจล.
“ที่โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมและอุปกรณ์ที่ค่อนข้างพร้อม แต่ยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมอบรมความรู้ทางด้านการปั้นเซรามิคขึ้นมา สาเหตุที่เลือกกิจกรรมการปั้นเซรามิค เนื่องจากเป็นกิจกรรมเชิงศิลปะที่ไม่ยากเกินไป และสามารถนำไปจำหน่ายเป็นของที่ระลึกได้ ประกอบกับทาง สจล. มีการเปิดสอนหลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อยู่แล้ว จึงง่ายต่อการจัดหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบ
ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำความรู้ที่มี มาช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยอีกกลุ่มหนึ่งในสังคม ให้สามารถประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว น่าจะเป็นบทพิสูจน์ที่ทำให้สังคมได้เห็นศักยภาพของเด็กไทยทั้งสองกลุ่ม คือ กลุ่ม “ปัญญาชน” และ กลุ่ม “เด็กปัญญา” มากยิ่งขึ้น”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤติยา ตระกูลทิวากร ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวถึงการสร้างสรรค์พร้อมกับพัฒนาผลงานทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะ และการออกแบบอันเกิดประโยชน์ต่อสังคม ว่าเป็นปณิธานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งทั้งคณาจารย์และนักศึกษาต่างยึดถือกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนในหลักสูตรการออกแบบอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนในการทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมกับการคำนึงอยู่เสมอว่า ผลงานที่สร้างขึ้นมาจะต้องก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมไปพร้อมกัน
สำหรับกิจกรรมที่นำมาอบรมในครั้งนี้ ได้แก่ การทำแม่พิมพ์ และการปั้นเซรามิคในเชิงพาณิชศิลป์ ซึ่งจะต้องมีการนำผลงานของเด็ก ๆ มาผ่านการเผาในเตาเผาเซรามิคเพื่อเพิ่มความสวยงามและทนทานของชิ้นงาน โดยจำเป็นต้องอาศัยทักษะความรู้ในเรื่องการเลือกขนาดของเตา การใช้อุณหภูมิความร้อน และการคำนวณระยะเวลาที่เหมาะสมมาประกอบด้วย ซึ่งทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการความรู้ที่มีส่วนช่วยยกระดับผลงานศิลปะของกลุ่มเด็กปัญญา ให้กลายเป็นผลงานที่มีคุณภาพ และสามารถจำหน่ายในตลาดอุตสาหกรรมเซรามิคได้ เพื่อเป็นการสร้างรายได้แก่เยาวชนกลุ่มนี้ต่อไป
ด้าน เงาแข เดือดขุนทด ผู้อำนวยการโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล กล่าวว่ากิจกรรมการปั้นเซรามิค ซึ่งทาง สจล. ได้นำมาถ่ายทอดให้กับทางโรงเรียนในครั้งนี้ นับเป็นอีกกิจกรรมที่มีความสำคัญสำหรับเด็กปัญญาเป็นอย่างมาก เพราะมีประโยชน์ในด้านการเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กกลุ่มนี้ให้ดีขึ้นได้ การส่งเสริมให้เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านพัฒนาการและสติปัญญา ได้ทำกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ เช่น การปั้น การวาดภาพระบายสี มีส่วนช่วยฝึกให้เด็กกลุ่มนี้มีสมาธิมากขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดพฤติกรรมความก้าวร้าว ทำลายข้าวของ ซึ่งเป็นปัญหาทางอารมณ์อย่างหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้ได้ เพราะขณะทำกิจกรรมเหล่านี้ เด็กจะได้ระบายอารมณ์ผ่านงานศิลปะ และจะจดจ่ออยู่กับการสร้างสรรค์ผลงานของตนเท่านั้น ทำให้เด็กมีความสุข และได้ผ่อนคลายไปในตัว
อนึ่ง โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล เป็นโรงเรียนการศึกษาพิเศษ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ที่เปิดสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสมอง แบ่งเป็นกลุ่มอาการต่างๆ เช่น เด็กออทิสติก เด็กที่มีพัฒนาการทางสติปัญญาช้ากว่าปกติ (ระดับไอคิวต่ำกว่า 50) เด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ ฯลฯ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษา โดยปัจจุบัน มีนักเรียนทั้งหมด 425 คน อายุตั้งแต่ 6 -18 ปี และมีครูผู้สอนจำนวน 50 คน สำหรับลักษณะการเรียนการสอนของที่นี่ จะแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถเรียนรู้ด้านวิชาการได้ ทางโรงเรียนจึงต้องจัดหาวิชาที่เด็ก ๆ นำไปใช้ประกอบอาชีพได้เข้ามาทดแทน เช่น วิชาชีพทางด้านการเกษตร อาทิ การปลูกผัก-สวนครัว การเพาะเห็ด การเลี้ยงสุกร เป็นต้น