เด็กๆ สามารถมีอาการปวดหัวหรือเป็นไมเกรนได้หรือไม่นั้น จากสถิติพบว่า 20% ของผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดหัวหรือไมเกรนมักจะมีอาการมาก่อนตั้งแต่ 10 ขวบ ในขณะที่อีก 50% บอกว่าเริ่มอาการปวดหัวก่อนอายุ 20 ปี
อย่างไรที่เรียกว่าการปวดหัวธรรมดาในเด็กหรือในวัยรุ่น
อาการปวดหัวเป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นทั้งในเด็กและในวัยรุ่น มีรายงานว่า 5% ทั้งในเด็กและวัยรุ่นมีอาการไมเกรนและ 15% มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงก่อนอายุ 15 ปี
ผู้ปกครองหลายท่านกังวลใจว่าอาการปวดหัวของลูกจะเป็นสัญญาณของเนื้องอกในสมองหรือสัญญาณอันตรายอื่นๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหัวในเด็กและวัยรุ่นมักไม่ได้มีผลที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่เป็นอันตราย
เรามักพบว่า เด็กๆ จะมีอาการปวดหัวเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ รวมทั้งอาการปวดหัวไมเกรน และอาการปวดหัวแบบไซนัสด้วย
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวในเด็กและวัยรุ่น
ส่วนใหญ่อาการปวดหัวจะขึ้นอยู่กับการเจ็บป่วย การติดเชื้อ หวัด หรือไข้ อีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวคือไซนัส เจ็บคออย่างรุนแรง หรือการติดเชื้อที่หู ส่วนอาการไมเกรนนั้นเราไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ถึงแม้ว่าจะพบว่าอาการไมเกรนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสมอง รวมทั้งอาการของทางพันธุกรรมร่วมด้วย หลายต่อหลายปีนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าไมเกรนนั้นมีความสัมพันธ์ของการขยายและหดตัวของเส้นเลือดบนผิวของสมอง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเชื่อว่าไมเกรนเกิดจากพันธุกรรมของความผิดปกติบางส่วนของสมอง
จากการศึกษาพบว่า เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ประมาณ 70% ที่มีอาการไมเกรนจะมีสมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาปวดไมเกรนในวัยเด็กเช่นกัน เด็กหรือวัยรุ่นที่มีอาการไมเกรนมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะส่งผลต่อสิ่งกระตุ้นของไมเกรนได้ด้วย เช่น ความเหนื่อยอ่อน แสงที่สว่างจ้า หรืออากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
ตัวกระตุ้นไมเกรนอาจเป็นความเครียด ความกระวนกระวายใจ หรืออาจเป็นการเปลี่ยนเวลานอน เสียงที่ดังเกินไป อาหารบางประเภท ปริมาณอาหารหรือเครื่องดื่มที่ได้รับมากเกินไป การออกกำลังกายที่มากเกินไปหรือได้รับแสงแดดมากเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระตุ้นต่อไมเกรนได้ทั้งในเด็กและในวัยรุ่น เช่นเดียวกับในช่วงรอบเดือนของเด็กผู้หญิงอาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้
นอกจากนี้ อาการทั่วไปของการปวดหัวรวมไปถึงความเครียดทางอารมณ์เป็นส่วนที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องครอบครัว เพื่อน หรือโรงเรียน หรืออาการปวดหัวอาจเกิดจากการนอนผิดท่า จะเห็นได้ว่าความเครียดเป็นส่วนที่ทำให้เด็กเกิดอาการปวดหัวได้
แต่หากอาการปวดหัวมีมากขึ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงอาการทางประสาทร่วมด้วย เช่นสูญเสียการมองเห็น ตาพร่า มีปัญหาทางการพูด กล้ามเนื้ออ่อนแอ นั่นอาจจะเป็นสัญญาณของปัญหาที่เป็นอันตรายได้ เช่น
1. ภาวะมีน้ำในสมอง
2. การติดเชื้อทางสมอง เช่น เยื่อบุสมองอักเสบ หรือเป็นฝีในสมอง
3. ภาวะเลือดคั่งในสมอง
4. เนื้องอกในสมอง
5. ก้อนเลือดอุดตันในสมอง
6. การบาดเจ็บทางสมอง
หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบนำเด็กไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อประเมินสุขภาพโดยด่วน
ข้อมูลอ้างอิง
http://www.webmd.com/migraines-headaches/guide/your-childs-headache