xs
xsm
sm
md
lg

4 เรื่องควรเลี่ยงกระตุ้น “ไมเกรน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พอเอ่ยถึง “ไมเกรน” ก็พาลให้คิดถึงอาการปวดหัวขึ้นมาโดยฉับพลัน เพราะไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะเพศหญิงในวัยเจริญพันธุ์ การปวดหัวไมเกรนนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพชีวิตและสมรรถนะในการทำงานของคนวัยนี้สูญเสียไป

สาเหตุเกิดจากมีการกระตุ้นต่อเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกที่บริเวณเยื่อหุ้มสมองและหลอดเลือดใหญ่ภายในกระโหลก เกิดการหลั่งของสารเคมีต่างๆ ไปกระตุ้นให้เกิดเป็นการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดใหญ่ที่ติดกับเยื่อหุ้มสมองขยายตัวเกิดเป็นความปวดขึ้นมา
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สำหรับอาการที่บ่งบอกว่า “คุณ” กำลังปวดศีรษะไมเกรนก็คือ

1.ผู้ป่วยประมาณ 60% จะปวดที่ข้างใดข้างหนึ่งของศีรษะ ส่วนอีก 35% จะปวดสลับข้างไปมา และที่เหลือจะปวด 2 ข้างพร้อมกัน

2.ระดับความปวดรุนแรงปานกลางถึงมาก จนไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติได้

3.ลักษณะการปวดเป็นแบบตุ๊บๆ ในบริเวณที่มีหลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น ขมับซ้ายและท้ายทอย

4.มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

5.อาการปวดจะแย่ลงเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมและดีขึ้นเมื่อพักผ่อน

และ 6.ตาสู้แสงไม่ได้ ไม่ชอบเสียงดัง

ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาการปวดจะคงอยู่นาน 4-72 ชั่วโมง ส่วนความถี่ของอาการอาจเป็นหลายครั้งต่อเดือนหรือปีละ 1-2 ครั้ง

โรคปวดศีรษะไมเกรนแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ คือ ไมเกรนแบบไม่มีอาการเตือน ซึ่งจะพบได้บ่อยกว่าประมาณ 85% และไมเกรนแบบมีอาการเตือน จะเกิดขึ้นใช่วงก่อนหรือหลังปวดไม่เกิน 1 ชั่วโมงและคงอยู่นาน 15-30 นาที โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

เห็นแสงวูบวาบ ซิกแซก หรือเงามืดขยายวงที่มุมข้างหนึ่งของลานสายตา เจ็บหรือเหน็บชาร่างกายครึ่งซีก และพูดผิดปกติและอ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก

ทั้งนี้ อาการไมเกรนในเด็ก อการปวดศีรษะอาจไม่ชัดเจน แต่จะมีอาการนำเด่น เช่น อาเจียนหรือปวดท้อติดต่อกันโดยไม่มีสาเหตุอื่น

ไมเกรนถือเป็นโรคเรื้อรัง โดยธรรมชาติของโรคอาการจะดีขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง อาการของโรคอาจรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องใช้ยาก้ปวดมากเกินขนาด โดยในรายที่มีอาการไม่บ่อย หรือน้อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน อาจรับประทานยาแก้ปวดเป็นครั้งคราวและควรมาพบแพทย์เมื่อมีอาการปวด ดังนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่ออายุมากกว่า 55 ปี หรือขณะตั้งครรภ์ มีอาการปวดนานเกิน 72 ช่วโมง มีอาการปวดบ่อยกว่า 2 เดือนต่อครั้ง และเกิดร่วมกับไข้ ผื่นผิวหนัง คอแข็ง ชักกระตุก ซึมลง ตามัว เห็นภาพซ้อน และแขนอ่อนแรง

การรักษาปวดศีรษะไมเกรน หากเป็นการรักษาอาการปวดระยะเฉียบพลัน จะใช้ยาแก้ปวดทั้งชนิดออกฤทธิ์เร็วหรือออกฤทธิ์ยาวนานต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังสามารถให้ยาป้องกันอาการปวดได้ ซึ่งจะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการลงได้ภายหลังการรักษาไปแล้ว 1-2 เดือน สำหรับการรับประทานยานั้นควรรับประทานยารักษาอาการปวดทันทีที่เกิดอาการปวด จะทำให้อาการปวดทุเลาลงเร็ว และม่ควรรับประทานยาชนิดนีก่อนที่จะมีอาการปวด จะทำให้เกิดการใช้ยาที่ไม่ถูกวิธี และทำให้ติดยาแก้ปวดได้

สำหรับสิ่งที่ควรเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนคือ

1.อาหาร เช่น แอลกอฮอล์ กาแฟ ผงชูรส สารแทนความหวาน เนยแข็ง ช็อกโกแลต และการอดอาหาร

2.ยา เช่น ฮอร์โมน ยาคุมกำเนิด ยาโรคหัวใจบางชนิด

3.สิ่งกระตุ้น เช่น น้ำหอม ทินเนอร์ บุหรี่ กลิ่นฉุนๆ

และ 4.สิ่งแวดล้อม เช่น อากาศร้อน และความเครียด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรพึงปฏิบัติก็คือต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน และออกกำลังกายม่ำเสมอ 30 นาทีต่อวัน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เท่านี้ก็จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคปวดศีรษะไมเกรนได้


กำลังโหลดความคิดเห็น