สงกรานต์ 5 ใน 7 วันอันตราย ตายพุ่ง 248 ราย เกิดอุบัติเหตุ 2,481 ครั้ง เจ็บกว่า 2.6 พันคน “โคราช” ยังแชมป์ตายสะสมสูงสุด จังหวัดตายเป็นศูนย์ลดลงเรื่อยๆ เหลือ 8 จังหวัด สั่งเข้มจุดตรวจเพิ่มความปลอดภัยระหว่างเดินทางกลับ เตือนรถสาธารณะห้ามประมาท ปชช. ฝากชีวิตไว้จำนวนมาก
วันนี้ (16 เม.ย.) พล.ต.ต.สุรพล อยู่นุช รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เม.ย. 57 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 454 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 501 คน เมาแล้วขับคือสาเหตุสูงสุด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ พฤติกรรมเสี่ยงคือไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง บนถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 40.09 ถนน อบต. /หมู่บ้าน ร้อยละ 37 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น.
พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า จากการจัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,273 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,794 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 717,921 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 115,057 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 34,279 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 32,658 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ศรีสะเกษ 21 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 28 คน
พล.ต.ต.สุรพล กล่าวว่า สำหรับอุบัติเหตุทางถนนรวม 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 - 15 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 2,481 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 191 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 248 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 8 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,643 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 204 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือตายเป็นศูนย์ รวม 8 จังหวัด ได้แก่ อำนาจเจริญ ชัยนาท เพชรบุรี ลพบุรี อ่างทอง นราธิวาส พังงา และยะลา จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 91 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 12 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และเชียงใหม่ จังหวัดละ 101 คน
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ช่วงนี้คาดว่าประชาชนจำนวนมากอยู่ระหว่างการเดินทางกลับ ศปถ. จึงได้กำชับให้จังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนสนธิกำลังปฏิบัติการลดอุบัติเหตุทางถนนเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน โดยจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจ และจุดบริการ เข้มข้นการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เน้นบนถนนสายหลักและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด กวดขันและเพิ่มความถี่ในการตรวจจับรถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสาร รถจักรยานยนต์ รถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ทั้งรถตู้โดยสาร รถรับจ้างประจำทางและไม่ประจำทาง เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สำหรับจังหวัดที่เป็นเส้นทางเข้ากรุงเทพมหานครขอให้ปรับแผนการปฏิบัติงาน เน้นเส้นทางขาเข้ากรุงเทพฯ โดยเปิดช่องทางพิเศษและปรับสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับปริมาณรถ เพื่อระบายการจราจรให้มีความคล่องตัวและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า สาเหตุอุบัติเหตุมักมาจากการง่วงแล้วขับ จึงขอฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้วางแผนการเดินทางกลับ โดยเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน จอดรถพักทุก 2 ชั่วโมง หรือทุกระยะ 150 - 200 กิโลเมตร ในบริเวณที่ปลอดภัย อาทิ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือจุดบริการของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และป้องกันอาการอ่อนล้าที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการง่วงแล้วขับ ทั้งนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุทางถนน สามารถแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า หลังจากหยุดยาวติดต่อกันมาหลายวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สำหรับประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ - รถตู้ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเนื่องจากต้องฝากชีวิตไว้กับคนขับรถ ดังนั้น การควบคุมมาตรฐานพนักงานขับรถสาธารณะ รถตู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องเข้มงวดเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและไม่เสี่ยงไปใช้บริการรถตู้เถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ประกอบการต้องตระหนักและควรคัดเลือกพนักงานขับรถที่มีคุณภาพ โดยพนักงานขับรถจะต้องมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และมีแอลกอฮอล์เป็นศูนย์เมื่อปฏิบัติงานก่อนพาผู้โดยสารไปส่งยังจดหมายปลายทาง ขณะเดียวกันคนขับรถโดยสารสาธารณะขับรถติดต่อกันได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ต้องมีคนเปลี่ยน เว้นแต่ได้พักเป็นเวลาไม่น้อยกว่าครึ่งชั่วโมง ส่วนมาตรฐานรถที่มีความปลอดภัย ต้องเป็นรถใหม่ อายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง มีประตูฉุกเฉิน
“หากผู้โดยสารต้องเดินทางในถนนที่มีความเสี่ยง คือ ทางลาดชัน ขึ้นเขาหรือลงเขา ก็ไม่ควรเลือกใช้บริการรถบัส 2 ชั้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ขอให้ผู้โดยสารทุกคนและคนขับปฏิบัติตามประกาศกฎกระทรวงอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทต้องมีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งทุกคัน หากตรวจพบมีการฝ่าฝืนไม่ติดตั้งอุปกรณ์ จะมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ส่วนผู้โดยสารที่ไม่คาดเข็มขัด มีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา คือ การคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งตลอดการเดินทาง” นายพรหมมินทร์ กล่าว