xs
xsm
sm
md
lg

3 วันสงกรานต์ตาย 161 ราย เจ็บพุ่งเกิน 1.6 พัน ผู้โดยสารเสียว รถสาธารณะขับเสี่ยงพาตายรวม 70 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


3 ใน 7 วันอันตรายสงกรานต์ ตายแล้ว 161 ราย ตายคาที่ถึง 65% เกิดอุบัติเหตุรวม 1,539 ครั้ง เจ็บอีก 1,640 คน “ชัยภูมิ” ตายเป็นศูนย์ ด้าน “เมืองคอน” เจ็บสะสมพุ่งสูงสุด พบสถิติตายน้อยลง แต่เกิดอุบัติเหตุและเจ็บมากขึ้น สั่งปรับมาตรการให้เหมาะสมสถานการณ์และการเล่นน้ำ ผู้โดยสารเสียววาบ คนขับรถสาธารณะขับเสี่ยงอันตรายแถมผิดกฎหมายรวม 70 ราย

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนพบว่า วันที่ 13 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 689 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 59 ราย ผู้บาดเจ็บ 747 คน สาเหตุสูงสุดยังคงเป็นเมาสุรา ร้อยละ 42.38 รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 76.35 พฤติกรรมเสี่ยงคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 23.20 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.99 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.77 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.08 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 34.40 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.61

นพ.นพพร กล่าวว่า จากการตั้งจุดตรวจหลัก 2,276 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,571 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 685,803 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 114,018 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 34,674 ราย ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 32,408 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 33 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 35 คน

นพ.นพพร กล่าวว่า สำหรับอุบัติเหตุทางถนนรวม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 - 13 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 1,539 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 93 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 161 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 13 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,640 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 114 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 3 วัน ได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3 วัน หรือตายเป็นศูนย์ รวม 13 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยนาท นครนายก เพชรบุรี ลพบุรี อ่างทอง นราธิวาส พังงา และยะลา ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 64 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 10 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 69 คน

“ประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถโทรศัพท์ประสานขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ในทันที สามารถส่งต่อผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาพยาบาลทุกแห่งทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนอย่างรวดเร็ว” รองอธิบดี คร. กล่าว

นพ.นพพร กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์กู้ชีพในการดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรช่วง 3 วันที่ผ่านมาพบว่า ปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุถึงร้อยละ 65 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด บาดเจ็บสาหัสต้องนอนโรงพยาบาล 2,884 ราย โดยศูนย์สั่งการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทั่วประเทศของ สธ. ได้รับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1669 จำนวน 12,578 ครั้ง หน่วยแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติการ 3,937 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 25 นำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล 2,441 ราย ได้ภายในเวลา 10 นาที หลังรับแจ้งถึงร้อยละ 85 และมีผู้บาดเจ็บที่นำส่งโดยรถปฏิบัติการฉุกเฉินรอดชีวิต 2,364 ราย คิดเป็นร้อยละ 97 และมีประชาชนผู้ประสบเหตุ ญาตินำส่งเอง 7,264 ครั้ง

นพ.นพพร กล่าวว่า ปลัด สธ. สั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศเร่งดำเนินการ 3 เรื่องเพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต คือ 1. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 ให้มากขึ้น เนื่องจากมีหน่วยแพทย์ฉุกเฉินมากกว่า 12,000 ทีม เจ้าหน้าที่ในระบบ 120,000 คนทั่วประเทศ พร้อมให้ความช่วยเหลือ จะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่านำส่งเอง ลดเสี่ยงเกิดพิการซ้ำซ้อนจากการช่วยเหลือไม่ถูกวิธี 2. ให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เข้มงวดกวดขันบังคับใช้กฎหมาย 3. ตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดด่านชุมชนต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น

นพ.นพพร กล่าวว่า สำหรับผลการตรวจบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 วัน ตรวจรวม 522 ราย พบผู้กระทำผิด ตักเตือน 330 ราย ดำเนินคดี 192 ราย ความผิดอันดับ 1 ได้แก่ การโฆษณาสื่อสารการตลาด รวม 113 ราย รองลงมาคือขายและดื่มนอกเวลา 34 ราย การลดแลกแจกแถม 22 ราย ขายในที่ห้ามขายรวม 11 ราย ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 2 ราย และดื่มในสถานที่ต้องห้าม 18 ราย กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศ ประสานตำรวจ และสรรพสามิต ออกตรวจเตือนประชาสัมพันธ์ หากพบกระทำผิดจะดำเนินคดีทุกราย

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่การเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และจุดเสี่ยงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพื่อกำหนดมาตรการพิเศษเฉพาะให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสถานการณ์

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า วันที่ 14 - 15 เม.ย. ประชาชนมักเล่นน้ำและท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ ขอให้จังหวัดปรับมาตรการดูแลความปลอดภัยทางถนนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกิจกรรมการเล่นน้ำของประชาชนแต่ละพื้นที่ เน้นการบังคับใช้กฎหมาย คุมเข้มทุกเส้นทางภายในจังหวัด โดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ พื้นที่ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมการเล่นน้ำอย่างสุภาพและปลอดภัยตามประเพณี จัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปลอดภัยจากอุบัติเหตุทุกประเภท เพื่อให้ประชาชนเดินทางโดยสวัสดิภาพและเล่นน้ำด้วยความปลอดภัย

นายพรหมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า แม้ผู้เสียชีวิตสะสมจะลดลงเกือบ 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ ส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับมาตรการโซนนิง จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ได้รับรายงานจากกรมการขนส่งทางบกเกี่ยวกับการตรวจสอบคนขับรถสาธารณะที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จำนวน 9 ราย 2. บรรทุกผู้โดยสารเกินปริมาณ 10 ราย 3. ไม่มีสมุดประจำรถสำหรับบันทึกระยะเวลาในการขับรถ จำนวน 47 ราย 4. ใช้ใบอนุญาตผิดประเภท 3 ราย 5. ขับเกินชั่วโมงการทำงาน 1 ราย และ 6. การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ไม่พบผู้กระทำผิด ซึ่งทั้งหมดมีโทษปรับ 5,000 บาททุกราย












กำลังโหลดความคิดเห็น