xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯโคราชเครียด เสียชีวิตมากสุด 3วันตาย161เจ็บเป็นพัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3 ใน 7 วันอันตรายสงกรานต์ ตายแล้ว 161 ราย เกิดอุบัติเหตุรวม 1,539 ครั้ง เจ็บอีก 1,640 คน "ชัยภูมิ" ตายเป็นศูนย์ ด้าน "เมืองคอน" เจ็บสะสมพุ่งสูงสุด พบสถิติตายน้อยลง แต่เกิดอุบัติเหตุและเจ็บมากขึ้น สั่งปรับมาตรการให้เหมาะสมสถานการณ์และการเล่นน้ำ ผู้โดยสารเสียววาบ คนขับรถสาธารณะขับเสี่ยงอันตรายแถมผิดกฎหมายรวม 70 ราย ด้าน ผู้ว่าฯโคราชถกเครียดหลังยอดตายพุ่ง ด้านขนส่งฯ เข้มรถโดยสารสาธารณะห้ามโกงผู้โดยสารช่วงสงกรานต์ มท.สั่งทุกจังหวัดวิเคราะห์จุดเสี่ยงลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์

วานนี้ (14 เม.ย.) นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนพบว่า วันที่ 13 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 689 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 59 ราย ผู้บาดเจ็บ 747 คน สาเหตุสูงสุดยังคงเป็นเมาสุรา ร้อยละ 42.38 รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ร้อยละ 76.35 พฤติกรรมเสี่ยงคือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 23.20 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.99 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.77 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.08 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 34.40 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.61

นพ.นพพร กล่าวว่า จากการตั้งจุดตรวจหลัก 2,276 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,571 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 685,803 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 114,018 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 34,674 ราย ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 32,408 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 33 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 35 คน

นพ.นพพร กล่าวว่า สำหรับอุบัติเหตุทางถนนรวม 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-13 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุรวม 1,539 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 93 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 161 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 13 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,640 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 114 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 3 วัน ได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 3 วัน หรือตายเป็นศูนย์ รวม 13 จังหวัด ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ ชัยนาท นครนายก เพชรบุรี ลพบุรี อ่างทอง นราธิวาส พังงา และยะลา ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 64 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 10 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 69 คน

"ประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถโทรศัพท์ประสานขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วน 1669 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดทีมแพทย์ พยาบาล หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ในทันที สามารถส่งต่อผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาพยาบาลทุกแห่งทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนอย่างรวดเร็ว" รองอธิบดี คร. กล่าว

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่การเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และจุดเสี่ยงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพื่อกำหนดมาตรการพิเศษเฉพาะให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสถานการณ์

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า วันที่ 14 - 15 เม.ย. ประชาชนมักเล่นน้ำและท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ ขอให้จังหวัดปรับมาตรการดูแลความปลอดภัยทางถนนให้เหมาะสมกับสถานการณ์และกิจกรรมการเล่นน้ำของประชาชนแต่ละพื้นที่ เน้นการบังคับใช้กฎหมาย คุมเข้มทุกเส้นทางภายในจังหวัด โดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ พื้นที่ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมการเล่นน้ำอย่างสุภาพและปลอดภัยตามประเพณี จัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปลอดภัยจากอุบัติเหตุทุกประเภท เพื่อให้ประชาชนเดินทางโดยสวัสดิภาพและเล่นน้ำด้วยความปลอดภัย

นายพรหมินทร์ กัณธิยะ ผอ.สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า แม้ผู้เสียชีวิตสะสมจะลดลงเกือบ 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ ส่วนท้องถิ่นต้องให้ความสำคัญกับมาตรการโซนนิ่ง จัดพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ได้รับรายงานจากกรมการขนส่งทางบกเกี่ยวกับการตรวจสอบคนขับรถสาธารณะที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1.ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จำนวน 9 ราย 2.บรรทุกผู้โดยสารเกินปริมาณ 10 ราย 3.ไม่มีสมุดประจำรถสำหรับบันทึกระยะเวลาในการขับรถ จำนวน 47 ราย 4.ใช้ใบอนุญาตผิดประเภท 3 ราย 5.ขับเกินชั่วโมงการทำงาน 1 ราย และ 6.การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ ไม่พบผู้กระทำผิด ซึ่งทั้งหมดมีโทษปรับ 5,000 บาททุกราย
ผู้ว่าฯโคราชถกเครียดหลังยอดตายพุ่ง

วานนี้ (14 ) นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.นครราชสีมา ฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งการในที่ประชุมร่วมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากในช่วง 7 วันอันตราย จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 10 ราย เป็นลำดับ 1 ของประเทศไทย โดยเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ราย ยอดเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ล่าสุดเทศกาลปีใหม่ 57 จังหวัดนครราชสีมา มีผู้เสียชีวิตสะสมรวม 21 ราย เป็นลำดับ 1 ทำให้บรรยากาศค่อนข้างเคร่งเครียด นายวินัย กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ผ่าฝืนอย่างเคร่งครัด และทุกองค์กรต้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้มีผลทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม

ด้าน พ.ต.อ บุญเลิศ ว่องวัจนะ รอง ผบก.ภ.จ.นครราชสีมา กล่าวว่า สาเหตุของอุบัติเหตุร้อยละ 80 เกิดจากเมาแล้วขับ รวมทั้งเหตุทะเลาะวิวาท ซึ่งมีจำนวนผู้บาดเจ็บมากกว่าห้วงเวลาปกติ 3 นอกจากนี้ให้จุดตรวจ 86 แห่ง บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดห้ามว่ากล่าวตักเตือน ต้องปรับในอัตราโทษที่เหมาะสมกับกลุ่มพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เมาแล้วขับ ใช้ความเร็วเกิดกำหนด ขับรถย้อนศร ตัดหน้าระยะกระชั้นชิด และผ่าฝืนสัญญาไฟจราจร ล่าสุดมียอดจับกุมข้อหาเมาแล้วขับรวม 714 ราย เฉพาะวันแรกของสงกรานต์ ในวันที่ 13 เมษายน จำนวน 363 ราย

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ตามที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการคุมเข้มกับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ห้ามเอาเปรียบผู้โดยสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากพบการฝ่าฝืนให้ปรับหนักทุกราย

นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนจากประชาชนผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ 1584 ระหว่างวันที่ 8-12 เมษายน 2557 จำนวนทั้งสิ้น 1,085 ราย ซึ่งกรมได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับทุกราย โดยเฉพาะกรณีได้รับการร้องเรียนผ่านศูนย์เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมาว่า บริษัทชาญทัวร์ จำกัด จำหน่ายตั๋วเกินราคาในเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ปกติราคา 359 บาท แต่จำหน่ายราคา 600 บาท หลังจากการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว ได้เปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการอัตราสูงสุด 10,000 บาททันที พร้อมทั้งให้คืนเงินที่เรียกรับจากผู้โดยสาร

ในวันเดียวกันกรมการขนส่งทางบกได้รับการร้องเรียนว่า รถโดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-หนองคายของบริษัท ธนาชัยทัวร์ จำกัด มีการเสริมที่นั่งจากปกติ 32 ที่นั่ง เป็น 45 ที่นั่ง ผู้ตรวจการจึงได้ตรวจสอบ และดำเนินการลงโทษเปรียบเทียบปรับผู้ประกอบการอัตราสูงสุดเป็นเงิน 5,000 บาท

นายอัฌษไธค์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการเข้มงวดดังกล่าว ได้ครอบคลุมถึงรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท เช่น กรณีผู้ร้องเรียนการใช้บริการวินจักรยานยนต์รับจ้าง เก็บค่าโดยสารเกินโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลนั้น กรมได้เข้มงวดกวดขันออกตรวจสอบและล่อซื้อพบว่า วินจักรยานยนต์รับจ้างที่ตั้งประจำบริเวณดังกล่าว ไม่มีการเก็บค่าโดยสารเกิน แต่พบรถจักรยานยนต์รับจ้างจากวินอื่นเรียกรับผู้โดยสารแล้วเก็บค่าโดยสารเกินราคา ซึ่งสามารถจับกุม และเปรียบเทียบปรับสูงสุด 500 บาทแล้วจำนวน 3 ราย

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น