xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์วันที่ 4 ตายอีก 43 ราย สั่งตั้งจุดตรวจเข้มรองรับขากลับ พุ่งเป้ารถบรรทุก-รถโดยสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ช่วง 7 วันอันตรายวันที่ 4 ตาย 43 ราย เจ็บ 502 ราย รวมเกิดอุบัติเหตุ 2,027 ครั้ง เพิ่มขึ้น 130 ครั้งจากปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดเจ็บรวม 2,142คน เพิ่มขึ้น 122 คน ขณะที่ “นครศรีธรรมราช” ครองตำแหน่งอุบัติเหตุและเจ็บสะสมสูงสุด พร้อมรับมือขากลับฉลองสงกรานต์ สั่งตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลัก สายรอง รอบพื้นที่เล่นน้ำ กำชับเข้มการใช้กฎหมายตรวจจับถี่ขึ้นโดยเฉพาะรถบรรทุกและรถโดยสารเพื่อลดอุบัติเหตุ เตือนผู้เดินทางพักผ่อนร่างกายและเช็กสภาพรถให้พร้อม และพักการเดินทางทุก 2 ชม.

นายเสริมศักดิ์  พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2557 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย. 57 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย สงกรานต์ทั่วไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 488 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 502 คน สาเหตุหลักคือ เมาแล้วขับ ร้อยละ 43.03 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 22.34 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.23 รถปิกอัพ ร้อยละ 12.30  พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 22.02 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 62.50 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 43.03 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.58 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 31.35 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ 20 - 49 ปี) ร้อยละ 53.58

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,274 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน  66,526 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 676,982 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 116,797 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 36,511 ราย รองลงมา ไม่มีใบขับขี่ 33,310 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ราชบุรี 21 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุทัยธานี 4 ราย  จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 23 คน

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 4 วัน (วันที่ 11 - 14  เมษายน 2557)  เกิดอุบัติเหตุรวม  2,027 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 130 ครั้ง หรือ ร้อยละ 6.85  ผู้เสียชีวิตรวม 204 ราย ลดลงจากปีที่ผ่านมา 15 ราย หรือ ร้อยละ 6.85 ผู้บาดเจ็บรวม  2,142  คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 122 คน หรือ ร้อยละ 6.04 ขณะที่ จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ (อุบัติเหตุเป็นศูนย์) ได้แก่ ชัยภูมิ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) รวม 12 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน  ชัยภูมิ  ยโสธร อำนาจเจริญ  ชัยนาท  นครนายก  เพชรบุรี ลพบุรี  อ่างทอง นราธิวาส พังงา และยะลา จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 75 ครั้ง  จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 11 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 82 คน

“เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง ขณะที่จำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น โดยรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ส่วนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดยังคงเป็นการเมาแล้วขับ การขับรถเร็ว  บนถนน อบต./หมู่บ้าน จึงขอให้จังหวัดติดตามตรวจสอบข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่  เพื่อวางแผนกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัจจัยเสี่ยง รวมถึงเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็วและทันเวลา” นายเสริมศักดิ์ กล่าว

ด้าน ม.ล.ปนัดดา  ดิศกุล  รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ในวันนี้ประชาชนบางส่วนจะเริ่มทยอยเดินทางกลับและบางส่วนยังคงเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในพื้นที่ จึงกำชับให้จังหวัดวางแนวทางลดอุบัติเหตุทางถนนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่วนการดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำสงกรานต์ ให้พิจารณาเพิ่มจุดบริการ จุดตักเตือนประจำชุมชน หมู่บ้าน รณรงค์การเล่นน้ำสงกรานต์ตามขนบธรรมเนียมประเพณีในพื้นที่โซนนิง ที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงใช้มาตรการทางสังคมควบคุมการเล่นน้ำสงกรานต์ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย สำหรับการปฏิบัติการรองรับการเดินทางกลับของประชาชน ให้เน้นหนักการจัดตั้งจุดตรวจ จุดบริการทั้งบนเส้นทางสายหลัก เส้นทางสายรอง โดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด เข้มข้นการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดในทุกพื้นที่และเพิ่มความถี่ในการตรวจจับ โดยเฉพาะรถกระบะบรรทุกผู้โดยสาร รถโดยสารสาธารณะ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

นายฉัตรชัย  พรหมเลิศ  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้วางแผนการเดินทางกลับ โดยเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ศึกษาและเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัย จอดรถพักทุก 2 ชั่วโมง หรือทุกระยะ 150 กิโลเมตร เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง นอกจากนี้  จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา หลายพื้นที่ของประเทศมีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถเป็นพิเศษ ไม่ขับรถเร็ว เพราะสภาพถนนที่เปียกลื่น จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ หากประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุทางถนน สามารถแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
 

กำลังโหลดความคิดเห็น