xs
xsm
sm
md
lg

มึนครูมืออาชีพเก่งทฤษฎี สอนไม่เป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์
วิทยาลัยอาชีวะเซ็ง! ครูมืออาชีพสอนวิชาชีพปฏิบัติระดับ ปวช. ไม่ได้ทั้งที่เป็นหัวใจสำคัญ ได้แต่ทฤษฎี ถก สกอ. ดูแลการคัดและเพิ่มการสอนให้ นศ.ครูที่เข้าโครงการพิเศษ

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับการร้องเรียนจากวิทยาลัยสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวนมากว่า อยากให้ช่วยดูแลการผลิตครูตามโครงการครูมืออาชีพ เพราะจากการประเมินครูที่มาจากโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2554-2556 จำนวน 140 คน พบว่า ครูที่สอนวิชาสามัญ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สามารถสอนได้ แต่ปัญหาคือ ครูที่สอนวิชาชีพไม่สามารถสอนได้ เพราะไม่มีความถนัดในการสอนวิชาปฏิบัติ หรือวิชาที่จะทำงานในภาคสนาม เช่น ครูที่จบทางด้านไฟฟ้า ไม่สามารถสอนวิชาปฏิบัติของระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งที่เป็นพื้นฐานได้ เช่น การเดินสายไฟ การพันมอเตอร์ แต่สิ่งที่สอนได้จะเป็นวิชาที่ไม่ใช่การปฏิบัติ เช่น คณิตช่าง เป็นต้น ซึ่งจะเป็นปัญหามากในการสอนระดับ ปวช. เพราะเน้นการปฏิบัติ แต่จะไม่ค่อยมีปัญหาการสอนในบางวิชาของระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี ซึ่งเน้นทฤษฎีเป็นส่วนใหญ่

“หลายวิทยาลัยเจอปัญหาที่สอดคล้องกัน ซึ่งครูจากโครงการครูมืออาชีพที่สอนได้ทุกวันนี้ เพราะมีครูรุ่นพี่มาเป็นผู้ช่วยสอน ปัญหาคือครูกลุ่มนี้จะเรียนจบสายสามัญ และมาเรียนครูในระดับอุดมศึกษา จึงไม่เคยผ่านการเรียนระดับปฏิบัติหรือวิชาพื้นฐานระดับ ปวช. ดังนั้น สอศ. จึงได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อดูแลเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยจะเริ่มตั้งแต่รุ่นปี 2557 ซึ่ง สกอ.จะเชิญ สอศ.มาร่วมคัดเลือกนักศึกษาด้วย เพื่อให้ได้คนที่พร้อมที่สุด” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า ในปีนี้จะบรรจุนักศึกษาทุน 140 คน โดยในจำนวนนี้เป็นสาขาอาชีพ 96 คน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนว่าจะลดสาขาสามัญ และเพิ่มสาขาอาชีพหรือไม่ ซึ่งจะดำเนินให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพราะ สกอ. เห็นว่าบางสาขาไม่ใช่สาขาขาดแคลนก็ควรจะลดลง เช่น สังคมศึกษา ภาษาไทย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คงต้องมีการพัฒนากลุ่มครูที่มาจากโครงการครูมืออาชีพในรุ่นที่ผ่านๆ มา โดยจะมีการส่งเสริมให้ครูรุ่นพี่สอนรุ่นน้อง และจัดโครงการอบรมเสริมการสอนทักษะอาชีพพื้นฐานให้แก่ครูที่สอนวิชาชีพทุกคน เพื่อให้เก่งทักษะอาชีพพื้นฐาน ขณะเดียวกัน จะประสานไปยัง สกอ. เพื่อขอให้สถาบันอุดมศึกษาเพิ่มทักษะพื้นฐานด้านอาชีพให้เด็ก เพื่อให้เด็กสามารถสอนปฏิบัติได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับวิทยาลัยต่างๆ และนักศึกษาจะได้มั่นใจในการสอนมากขึ้น ขณะเดียวกันในการรับเด็กเข้าเรียนหลักสูตรครู 5 ปี ควรจะรับเด็ก ปวช. เข้ามาเรียนด้วย เพื่อจะได้มาเป็นครูสายอาชีพที่สอนปฏิบัติเด็กได้ และตรงกับความคาดหวังของวิทยาลัยต่างๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น