สธ. สั่งโรงพยาบาลริมทางหลวงสายหลัก 5 สาย จัดทีมแพทย์ฉุกเฉินและอุปกรณ์รับมืออุบัติเหตุขากลับจากฉลองสงกรานต์ 15-16 เม.ย. นี้ พร้อมสั่งเตรียมสำรองเลือดทุกหมู่รองรับผู้ป่วยเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารทะลุ เพราะดื่มหนักในช่วงเทศกาล รวมทั้งเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังเทศกาล เตือนประชาชนหากป่วย มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ กินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้รีบพบแพทย์รักษา ป้องกันอาการรุนแรงแทรกซ้อนอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
วันนี้ (15 เม.ย.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จังหวัดนครสวรรค์ และโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเตรียมการรับมืออุบัติเหตุจราจรช่วงขากลับจากการฉลองสงกรานต์ ว่า ทั้ง 2 จังหวัดนี้มักเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยจึงได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ตามเส้นทางหลวงสายหลัก 5 สาย คือ ถนนพหลโยธิน เอเชีย มิตรภาพ เพชรเกษม และสุขุมวิท ซึ่งมีประมาณร้อยละ 50 ของโรงพยาบาลทั้งหมด และโรงพยาบาลที่อยู่แถบปริมณฑลใกล้ กทม. ให้จัดทีมแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมรถพยาบาลและเครื่องมือแพทย์ครบครัน เพื่อรับมืออุบัติเหตุในช่วงขากลับ วันที่ 15-16 เมษายน 2557 ที่อาจเกิดจากอาการอ่อนเพลีย นอนไม่พอ หลับใน โดยประชาชนส่วนใหญ่มักใจร้อนจะขับรถเร็ว เพราะอยากถึงบ้านเร็วๆ เพื่อพักผ่อนก่อนเริ่มทำงาน ต้องขอความร่วมมือประชาชน ให้ โทร. แจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 หากพบมีผู้บาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตามทีมแพทย์แพทย์กู้ชีพ พร้อมออกปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง
ปลัด สธ. กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาอุบัติเหตุจราจรแล้ว เรื่องที่เป็นห่วงหลังเทศกาลสงกรานต์มีอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารทะลุ เนื่องมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก จะพบได้ทุกปีหลังเทศกาลประมาณ 2-3 วัน ดังนั้น จึงให้โรงพยาบาลสำรองคลังเลือดทุกหมู่ไว้ให้เพียงพอรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ และเรื่องที่ 2 คือให้เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องมาจากการเล่นน้ำและสวมใส่เสื้อผ้าเปียกชื้นแฉะเป็นเวลานาน รวมทั้งการตรากตรำ พักผ่อนน้อย ทำให้ภูมิต้านทานโรคต่ำลง รวมทั้งการเดินทางที่แน่นแออัดและเป็นได้ทุกวัย ทั้งนี้ อาการป่วยจากไข้หวัดใหญ่ จะปรากฏหลังติดเชื้อ 1-4 วัน มักเริ่มด้วยมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อ่อนเพลีย ประชาชนบางคนคิดว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา หากมีอาการดังกล่าวขอให้คาดหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และงดการเดินทาง หยุดพักผ่อนที่บ้านจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากกินยาลดไข้แล้ว แต่ไข้ยังไม่ลดภายใน 2 วัน ขอให้พบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ป้องกันอาการแทรกซ้อนรุนแรงโดยเฉพาะโรคปอดบวม ซึ่งมีอันตรายถึงชีวิต โดยขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งมียาต้านไวรัสใช้รักษาโรคนี้ได้ผลดี อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในปี 2557 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันนี้ ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 28,607 ราย เสียชีวิตแล้ว 31 ราย