xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 75 ล.เดินสู่เป้าหมายกว่า 200 โรงงานเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กพร.เดินหน้าโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานปีที่ 2 ใช้งบ 75 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการเป็น 200 แห่งทั่วประเทศ เผยปีที่ผ่านมาช่วยลดต้นทุนการผลิตได้กว่า 192 ล้านบาท

วันนี้ (2 เม.ย.) นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวระหว่างเป็นประธานพิธีเปิดการเสวนา “การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน” ที่โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพฯ ว่า ในปี 2557 กพร.ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเงิน 75 ล้านบาท และจะมีการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็น 200 แห่ง ใน 10 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อาหาร สินค้าเกษตร, ยานยนต์ ชิ้นผลิตชิ้นส่วนและโลหะ, ท่องเที่ยวและบริการ, เฟอร์นิเจอร์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์, ผลิตภัณฑ์สุขภาพ, ก่อสร้าง, อัญมณี เครื่องประดับ และโลจิสติกส์ ซึ่งทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต้องลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านเมื่อเข้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

การดำเนินโครงการจะนำ 4 กระบวนการหลักมาใช้ คือ การวางแผนการผลิต การปรับปรุงแระบวนการผลิต การลดการสูญเสียในการวงจรการผลิต และการจัดการคลังสินค้า ซึ่งปีที่ผ่านมามีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯจำนวน 18 แห่ง ใน 8 จังหวัด คือ นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ช่วยให้สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนการผลิตและอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ได้กว่า 192,342,578 บาท" นายนคร กล่าว

อธิบดี กพร.กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่น ทักษะภาษา ไอที จนต้องมีการนำแรงงานต่างชาติมาทำงาน ส่วนแรงงานไทย โดยเฉพาะกลุ่มจบใหม่ ก็ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ทันที ต้องมีการฝึกอบรมก่อนทำงานจริง ดังนั้นโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานจะเป็นหนึ่งตัวช่วยให้มีแรงงานที่สามารถปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้มองว่าการขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรมต้องแก้ไขโดยเข้าร่วมกับภาครัฐในการฝึกและจัดหาแรงงานอย่างเป็นระบบ จัดสวัสดิการที่ดี และค่าจ้างที่เหมาะสม เพื่อจูงใจให้แรงงานไทยหันมาเข้าสู่อุตสาหกรรมการทำงานมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการสามารถพัฒนากำลังคนของตนเองให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

ปัญหาหลักของการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ ใน 7 ด้าน ซึ่งส่งผลเกิดความสูญเสีย คือ การผลิตเกินความจำเป็น จนเกิดการสูญเสียของชิ้นงานที่เก็บในคลังสินค้า มีการสูญเสียจากชิ้นงานในการขนส่งที่ไม่เป็นระบบ การทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ การเคลื่อนย้ายสินค้าที่ไม่เหมาะสม และการตัดสินใจที่ล่าช้า จนเกิดการรอคอยปัจจัยการดำเนินงาน จึงต้องจัดโครงการพัฒนายุทธศาสตร์เพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดการสูญเสียในวงจรการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคตก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านอุตสาหกรรมนั้น มองว่าแต่ละปีมีผู้จบการศึกษาไม่น้อยกว่า 2 แสนคน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้มีความต้องการผู้จบปริญญาตรีเพียงอย่างเดียวแต่ต้องการผู้ที่จบ ปวช. ปวส. มากกว่า ซึ่งไม่สอดคล้องกันเท่าที่ควรจึงอยากเชิญชวนและสนับสนุนให้หันมาเรียนด้านอาชีพมากขึ้น เพราะรับรองได้ว่าจบมามีงานทำแน่นอน ” อธิบดี กพร.กล่าว

ผศ.ดร.ชัชพล มงคลิก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า ได้ให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในปีแรกทั้ง 18 แห่ง พบว่าส่วนมากมีปัญหา ขาดการวางแผนการผลิตที่ดี สินค้าที่อยู่ในขั้นการผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก และสำรองสินค้าไว้ในคลังมากเกินไปจึงได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและความเสียหายของสินค้า ซึ่งในการดำเนินโครงการปีที่ 2 มจพ.ได้เข้าเป็นที่ปรึกษาให้กับสถานประกอบการ 40 แห่ง

ด้านนายณัฐภน ชูขจร ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปบริษัทอุตสาหกรรมทวีวงษ์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแปรรูป กล่าวว่า หลังเข้าร่วมโครงการในปีที่ผ่านมา สามารถลดการสูญเสียของบริษัทได้กว่า 30 ล้านบาท สามารถบริหารจัดการ ขั้นตอนการผลิตให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดยการลดการใช้พนักงานในหลายขั้นตอน มีการจัดแยกประเภทสินค้า นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดวาง และการเบิกจ่ายสินค้า ทำให้ระบายสินค้าได้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ ยังมองว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานยังช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาพรวมได้อีกด้วย เนื่องจากมีการใช้จำนวนคนทำงานที่ลดลง
 


กำลังโหลดความคิดเห็น