ก.แรงงานแจงเกณฑ์สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีของผู้ประกอบการในการรับนักเรียน นักศึกษา บุคคลทั่วไปเข้าฝึกงาน ชี้ต้องยื่นเอกสาร-หลักฐานต่อ กพร.ภายใน 30 วัน เมื่อรับเข้าฝึกงาน
วันนี้ (24 มี.ค.) นายอรรถการ ตฤษณารังสี รองประธานคณะกรรมการแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในการสัมมนาส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการ ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 ที่โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ค กทม.ว่า วันนี้เป็นการชี้แจงเรื่องความเข้าใจหลักเกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการรับนักเรียนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้าฝึกเตรียมทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีกฎหมายหลักอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสนในเรื่องการขอรับสิทธิประโยชน์ เช่น ไม่ได้กำหนดรายละเอียดในการยื่นฝึก ทั้งเอกสาร หลักสูตรกรณีรับนักเรียน นักศึกษาเข้าฝึกงาน ระยะเวลาการฝึก อุปกรณ์การฝึก
นอกจากนี้ กรมสรรพากรไม่สามารถวินิจฉัยค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์เหมือนกันทุกพื้นที่ แต่หลังจากการหารือกับทุกฝ่ายทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กรมสรรพากร และผู้ประกอบการ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นโดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2557 ซึ่งเห็นว่าการรับนักเรียน นักศึกษา เข้าทำงานจะทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติเพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
นายวิษณุ ปาณวร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การรับสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาฝีมือแรงงานและการรับนักเรียนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปเข้าฝึกเตรียมทำงานมีรายละเอียด เช่น การยื่นคำขอต่อ กพร.ในฐานะนายทะเบียน พร้อมหลักฐานประกอบคำขอ เช่น สำเนาหนังสือการจดทะเบียน วิธีและมาตรฐานการฝึก โดยต้องให้นายทะเบียนตรวจสอบให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน รวมถึงการกำหนดค่าใช้จ่ายในการฝึกเตรียมเข้าทำงาน เช่น รายละเอียดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฝึก ค่าสอนหรือค่าตอบแทนวิทยากร ไม่เกินชั่วโมงละ 1,200 บาท และไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง ค่าเบี้ยเลี้ยงผู้เข้ารับการฝึกเท่าที่จ่ายจริง เฉพาะวันที่รับการฝึก ค่าอุปกรณ์ป้องกันอันตราย หรือเครื่องมือประจำตัวผู้เข้ารับการฝึกไม่เกินคนละ 3,000 บาท