xs
xsm
sm
md
lg

เปิดพื้นที่ 5 หมู่บ้านอันตรายรับสารพิษไฟไหม้บ่อขยะ สธ.วิตก! คนเรือนหมื่นไม่ยอมอพยพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วอร์รูมไฟไหม้บ่อขยะสมุทรปราการเผยพื้นที่ 5 หมู่บ้านอันตราย พบสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ลุกล้ำแน่นหนาเกิน 5 ppm 2 หมู่บ้าน ต้องสั่งอพยพทันที มากกว่า 2 ppm อีก 3 หมู่บ้าน กลุ่มเสี่ยงต้องเร่งอพยพ แต่ประชาชนเรือนหมื่นยังไม่ยอมย้ายออก สธ.เร่งส่งทีมพูดกรอกหูชาวบ้านย้ายออก พร้อมเตรียมนัดตรวจสุขภาพกลุ่มสัมผัสสารพิษรุนแรงในสัปดาห์หน้า

วันนี้ (19 มี.ค.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรปราการ   นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ รองนายแพทย์ สสจ.สมุทรปราการ ในฐานะผู้บัญชาการวอร์รูมไฟไหม้บ่อขยะ ซ.แพรกษา จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า การกระจายของควันและสารพิษขณะนี้มีลักษณะเป็นรูปทรงกรวยบานขึ้นไปทางเหนือ เนื่องจากลมทะเลพัดจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ ทำให้ฝุ่น ควัน และสารพิษกระจายตัวออกไป ซึ่งจากการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษพบว่า 1.พื้นที่ในบ่อขยะมีคาร์บอนมอนอกไซด์สูงถึง 175 ppm 2.พื้นที่รัศมีรอบบ่อขยะ 200 เมตร มีคาร์บอนมอนอกไซด์ 10-15 ppm ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 10-12 ppm  3.พื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตร มีค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 5-8 ppm ซึ่งภายในรัศมีดังกล่าวถือว่าเป็นโซนสีแดง ต้องอพยพชาวบ้านออกทั้งหมด แต่ปัญหาคือประชาชนเกือบแทบทั้งหมดยังไม่ยอมย้ายออก ซึ่งหมู่บ้านในรัศมีดังกล่าวมี 2 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านธันยพร และหมู่บ้านสหกรณ์ 4.พื้นที่รัศมี 2 กิโลเมตร มีค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 2-4 ppm จัดเป็นพื้นที่สีเหลือง กลุ่มเสี่ยง อาทิ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัว ต้องย้ายออก สำหรับพื้นที่ในรัศมีนี้มี 3 หมู่บ้านคือ หมู่บ้านเนเชอรา หมู่บ้านศุภาลัย และหมู่บ้านปัญฐิญา และ 5.พื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจัดเป็นพื้นที่สีเขียว

ที่น่าห่วงคือยังมีประชาชนเรือนหมื่นที่ยังไม่ยอมอพยพออก ที่น่ากังวลนอกจากนี้คือ หากกระแสลมมีการพัดเปลี่ยนทิศทาง โดยพัดลงมาทางใต้บริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีชุมชนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น ส่วนศูนย์อพยพเห็นควรว่าอาจต้องเปลี่ยนที่ เพราะควันและสารพิษอาจลอยไปบริเวณดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีการตรวจวัดมลพิษในอากาศอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายปกครองด้วย” นพ.นำพล กล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมวอร์รูมว่า การเฝ้าระวังดูแลสุขภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับการสัมผัส แบ่งเป็น 1.กลุ่มเสี่ยงสูงสุดที่มีการสัมผัสรุนแรง เช่น นักผจญเพลิง ผู้สื่อข่าว วินมอเตอร์ไซค์ อาสาสมัคร รักษาความปลอดภัยตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ใกล้บ่อขยะ และทหาร คาดประมาณกว่า 500 คน โดยภายในสัปดาห์จะเริ่มนัดให้มาตรวจสุขภาพที่ รพ.สมุทรปราการทุกคน ซึ่งจะต้องมีการตรวจอย่างละเอียด เจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ปอด สมรรถภาพปอด ตรวจคลื่นไหห้าหัวใจ หาสารก่อมะเร็งต่างๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 2.กลุ่มปานกลาง คือประชาชนที่อยู่ในรัศมีรอบบ่อขยะ 200 เมตร ก็จะมีแนวทางตรวจสุขภาพเบื้องต้น และ 3.กลุ่มนอกพื้นที่ 200 เมตรขึ้นไป จะมีการซักประวัติคัดกรองความเสี่ยง และขึ้นทะเบียนเพื่อติดตามต่อเนื่องระยะยาว

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับการให้บริการเฉพาะหน้า ขณะนี้มีการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 2 จุดคือ อบต.แพรกษา ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งศูนย์อพยพ และวัดแพรกษา โดยสิ่งที่จะเพิ่มเติมจากการบริการตรวจรักษาคือมีทีมสุขภาพจิตดูแลประชาชนด้วย รวมถึงมีทีมเข้าไปประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำ ประชาชนในพื้นที่ที่ยังไม่อพยพแบบเคาะประตูบ้าน เพราะขณะนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ยังไม่ยอมอพยพ โดยกลางคืนที่ศูนย์อพยพมีจำนวนผู้อพยพเพียง 200 คนเท่านั้น โดยจะอธิบายให้เข้าใจถึงอันตรายของสารพิษต่างๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา ทางเดินหายใจ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยง อาทิ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ถ้าหากไม่ย้ายออกจะเกิดอันตรายได้ง่ายกว่าคนปกติ สำหรับการตรวจสภาพอากาศของศูนย์อพยพขณะนี้ยังคงปลอดภัย แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

"ขอแนะนำให้ผู้ที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้คือ งดออกกำลังกายกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างบ้านให้มิดชิด และเปิดเครื่องปรับอากาศ ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากและจมูก และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องสัมผัสกับควัน หากมีอาการ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ แน่นหน้าอกหายใจลำบากควรไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมกันเฝ้าระวังผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมทั้ง น้ำ ดิน และอาหาร โดยจะมีการสำรวจค่าสารอันตราย เช่นโลหะหนัก สารที่เกิดจากการเผาไหม้ขยะจากพลาสติก ยาง และโฟม เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนแก้ไขต่อไป" ปลัด สธ. กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น