xs
xsm
sm
md
lg

7 สิ่งควรทำหลังเจอ “สิ่งปนเปื้อน” สุดยี้ใน “อาหาร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีลูกค้าร้องเรียนว่าพบแมลงสาบในช็อกโกแลตซันเดย์ จากร้านแมคโดนัลด์สาขาเมเจอร์ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ล่าสุดบริษัท แมคไทย จำกัด ได้โพสต์ข้อความลงในแฟนเพจชื่อ “McDonald's Thai” โดยระบุว่า บริษัทได้เข้าแจ้งความและลงบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจบางพลัด เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นดำเนินการกับลูกค้าที่ใช้นามว่า Witchy Army

โดยโพสต์ดังกล่าวอ้างว่า บริษัทได้รับทราบและตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังทันที พบว่าลูกค้าซื้อช็อคโกแลตซันเดย์ จากสาขาดังกล่าวในเวลา 14.37 น.โดยเป็นการซื้อแบบนำกลับ ไม่ได้รับประทานที่ร้าน และลูกค้าได้กลับมาแจ้งที่ร้านว่าพบแมลงสาบในซอสของช็อกโกแลตซันเดย์ ในเวลา 16.42 น. ซึ่งเป็นเวลา 2.05 ชั่วโมง หลังจากนำสินค้าออกไปแล้ว

แถมยืนยันด้วยว่า แมคโดนัลด์ ให้บริการลูกค้ามากกว่า 8 ล้านคนต่อเดือน บริษัทใคร่ขอเรียนให้ทราบว่ามีหลายกรณีที่ลูกค้าร้องเรียนในลักษณะดังกล่าว อาทิ การพบสิ่งแปลกปลอมในอาหารที่ซื้อแบบนำกลับ ไม่ได้รับประทานที่ร้าน หรืออาหารเป็นพิษภายหลังรับประทาน ซึ่งบริษัทได้ทำการตรวจสอบและแจ้งกลับทุกกรณี บริษัทขอเรียนยืนยัน ว่าแมคโดนัลด์ยึดมั่นและให้ความสำคัญในขั้นตอนดูแลความสะอาด รวมทั้งส่งมอบอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบที่มีความ สด สะอาด ได้คุณภาพทุกวัน

บริษัทขอปกป้องสิทธิ์ในการพิจารณาข้อเรียกร้องผ่านทางสื่อออนไลน์และขอความเป็นธรรมในกรณีนี้

หากตีความจากข้อความของ แมคโดนัลด์ เรียกได้ว่า งานนี้บริษัทพร้อมที่จะโยนบาปให้ผู้บริโภคฝ่ายเดียว เพราะแมลงสาบที่อยู่ในช็อกโกแลตซันเดย์อาจปนเปื้อนมาทีหลัง หลังจากที่ลูกค้าออกจากร้านไปแล้ว เพราะกว่าที่ลูกค้าจะกลับมาแจ้งที่ร้าน เวลาก็ผ่านไปถึง 2 ชั่วโมงแล้ว

ที่น่าแปลกใจคือ การออกมาปกป้องสิทธิ์ตัวเองของผู้บริโภค แต่บริษัทกลับการแจ้งความกลับผู้บริโภคเช่นนี้ ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

ซึ่ง น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ Saree Aongsomwang ว่า หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงกับผู้บริโภค เราไม่ควรยอมจำนน ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบ แทนที่ผู้บริโภคกลับกลายเป็นจำเลย มาตรฐานความสะอาดในการผลิตอาหาร การเยียวยาความเสียหายผู้บริโภค ผู้บริโภครายนี้อย่างน้อยก็ได้พิทักษ์สิทธิของตนเอง

สำหรับแนวทางในการปฏิบัติตัวหากเจอสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ทั้งกรณีอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วพบว่า มีสิ่งปนเปื้อนทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น เศษแก้ว ก้อนกรวด ลวดเย็บกระดาษ จิ้งจก และตะกอนขาวขุ่น เป็นต้น กรณีอาหารที่ซื้อมาเปิดภาชนะออกแล้วพบว่ามีสิ่งปนเปื้อน เช่น เส้นขนต่างๆ ขาแมลง ตัวแมลง/แต่ยังไม่ได้บริโภคหรือรับประทาน หรือกรณีอาหารที่ซื้อมาแล้วพบสิ่งปนเปื้อนในอาหารโดยไม่ได้เปิดภาชนะ โพสต์ดังกล่าวของ น.ส.สารี ได้แนะนำไว้ 7 ข้อดังนี้

1.ถ่ายรูปและเก็บตัวอย่างสินค้าไว้เป็นหลักฐาน เมื่อพบปัญหาโดยทันที

2.กรณีมีใบเสร็จจากร้านค้าให้เก็บไว้เป็นหลักฐานด้วย

3.ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย และขอใบรับรองแพทย์ พร้อมเก็บใบเสร็จรับเงินค่า
รักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน

4.หากซื้อสินค้ามามากกว่า 1 ชิ้น ให้เก็บตัวอย่างสินค้าไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ห้ามเปิดเพื่ออย่าทดสอบด้วยตัวเอง ถ้าต้องการทดสอบว่าสินค้ามีปัญหาเหมือนกันหรือไม่ ให้ไปเปิดสินค้าทดสอบต่อหน้าพนักงานสอบสวน เพื่อเป็นพยาน

5.นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน

6.โทร.แจ้งศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (เบอร์โทรระบุไว้ที่ภาชนะบรรจุ) ซึ่งต้องคิดให้ดี ว่า เราต้องการให้
บริษัทดำเนินการอย่างไร เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

7.ทำหนังสือยื่นข้อเสนอกับบริษัท ด้วยการบรรยายสรุปปัญหาที่พบ โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า และให้ระบุความต้องการที่ชัดเจนซึ่งเป็นความเสียหายของผู้บริโภค เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น

หมายเหตุ : หลักฐานตัวจริงทั้งหมดให้เก็บไว้ที่ตนเอง ห้ามให้หน่วยงานหรือผู้ประกอบการโดย
เด็ดขาด


กำลังโหลดความคิดเห็น