xs
xsm
sm
md
lg

แปล พาราไบเก ฟันธงไม่ใช่ พระเจ้าอุทุมพร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่า สรุปการแปลภาพจากเอกสารสมุดพม่า หรือ พาราไบเก ฟันธงไม่ใช่พระเจ้าอุทุมพร ระบุเป็นพระเจ้าเอกทัศ ลือพม่าสั่งชะลอโครงการอนุสรณ์พระเจ้าอุทุมพร ไร้วี่แววผู้รับผิดชอบโครงการออกมาแจงข้อเท็จจริง

วันนี้ (12 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางแหล่งข่าวระดับสูงจากจากนักวิชาการจากสภานานาชาติว่าด้วยการดูแลอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี หรืออิโคโมส เปิดเผยว่า ได้มีการเผยแพร่ความคืบหน้าเกี่ยวกับการขุดค้นสถูปพระเจ้าอุทุมพร เพื่อสร้างเป็นอนุสรณ์สถานผ่านเฟซบุ๊กของผู้บริหารของสมาคมจิตพรรณรายหนึ่งว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวเรื่องดังกล่าวมาหลายวันทำให้ทางการพม่าสั่งให้ชะลอการสร้างอนุสรณ์สถานเป็นการชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดกระแสข่าวดังกล่าวนักวิชาการกรมศิลปากร ได้ส่งจดหมายอีเมล์สอบถามไปยังกรมโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และหอสมุด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงของกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กรมโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และหอสมุดแจ้งกลับมาว่าทางคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay City Development Committee-MCDC) มีการออกคำสั่งให้ทางสมาคมจิตพรรณชะลอการขุดค้นและการสร้างอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรเป็นการชั่วคราวจริง แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดคำสั่งชะลอ

ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อทางโทรศัพท์สอบถามนายวิจิตรชินาลัย สถาปนิกอำนวยการโครงการอนุรักษ์โบราณสถานและอุทยานประวัติศาสตร์เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร ที่ดำเนินงานในนามสมาคมจิตพรรณ ถึงกรณีข้อเท็จจริงที่ว่ามีการชะลอการขุดค้นสถูปพระเจ้าอุทุมพรจริงหรือไม่ แต่ทางเจ้าหน้าที่สมาคมจิตพรรณ แจ้งเพียงว่านายวิจิต ไม่เข้ามาที่สมาคม

ด้านนายวทัญญู ฟักทอง อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลันนเรศวร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่า กล่าวว่า ทางกรมศิลปากร ได้มอบหมายให้ตนแปล พาราไบเก ที่ทางกลุ่มสมาคมจิตพรรณใช้อ้างอิงและจัดแสดงข้อมูลหลักฐานและการขุดค้นเกี่ยวกับสถูป ไว้ที่บริเวณศูนย์ข้อมูลใกล้ๆสถูปที่เชื่อได้ว่าบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ตนได้แปลตามหลักไวยากรณ์พม่า คำต่อคำ พบว่า เรื่องของชื่อภาพวาดนั้น ไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจริงๆ แต่แปลออกมาแล้วเป็น สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 33 มีใจความว่า ภาพเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กษัตริย์โยดะยา ผู้ซึ่งตกอยู่ภายใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี สี่น ผยู่ ฉิ่น พระผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนปุระเป็นราชธานีนับเป็นครั้งที่ 3 ทรงตีอาณาจักรโยดะยาและสามารถยึดเอาเมืองพร้อมกับกษัตริย์ได้แล้ว ภายหลังเสด็จสวรรคต ขณะอยู่ในผ้าเหลือง ณ เมืองอมรปุระ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี พระอนุชา (ของกษัตริย์พระองค์นั้น) พระผู้ทรงสถาปนากรุงอมรปุระเป็นราชธานี และทรงสงเคราะห์อย่างใหญ่โต ณ สุสานลินซินโกง โดยการ “นับเป็นครั้งที่ 3” หมายถึงการสถาปนาเมืองรัตนปุระอังวะเป็นราชธานีครั้งที่ 3 (ครั้งที่ 1 รัชกาลพระเจ้าตะโดมีงพญา ค.ศ. 1365, ครั้งที่ 2 รัชกาลพระเจ้าญาวยาน ค.ศ. 1597, ครั้งที่ 3 รัชกาลพระเจ้าสี่น ผยู่ ฉิ่น ค.ศ. 1764) และคำว่า “ทรงสงเคราะห์” คำว่า “สงเคราะห์” มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต ตรงกับคำไทยคือ “สงเคราะห์” ใช้ในความหมายในภาษาพม่าว่า “ปลงศพ”


กำลังโหลดความคิดเห็น