xs
xsm
sm
md
lg

นักโบราณคดีเผยบันทึก 27 ปี สมภารวัดข่ามีนเว เล่าเจ้านายพระภิกษุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักโบราณดีไทยเปิดบันทึกอายุ 27 ปีเผยคำบอกเล่า “สมภารวัดข่ามีนเว” เมืองสะกาย ยันพบหลักฐาน “เจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุ” มีพิธีปลงพระศพใหญ่โต เขียนไว้ในศิลาจารึกภาษาสันสกฤต นำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของวัด แต่น่าเสียดายปัจจุบันหลักฐานหลายอย่างสูญหาย วอนอย่าด่วนสรุปเรื่องสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

นายสด แดงเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและอดีตอธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวถึงการศึกษาและขุดค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ว่า ในแนวทางที่ตนศึกษานั้นได้ศึกษาหลักฐานที่ปรากฏในบทพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพม่า ซึ่งทรงบันทึกเมื่อคราวเสด็จเมืองพม่าเป็นครั้งที่ 2 ปี 2478 ขณะประทับที่ปีนัง ทรงพระนิพนธ์ว่า เมื่อเสด็จกลับมาถึงปีนังจึงทรงทราบว่าเสียโอกาสไปอย่างหนึ่ง ด้วยเคยทรงทราบแต่ในร. 5 ว่าเขาพบที่บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินสยาม คือ พระเจ้าอุทุมพร ซึ่งไปสวรรคตที่เมืองพม่า โดยทรงสืบถามที่เมืองย่างกุ้งไปจนถึงเมืองมัณฑะเลย์ก็ไม่พบผู้รู้ว่ามีพระเจดีย์องค์นั้น พวกกรมตรวจโบราณคดียืนยันว่าที่เมืองอังวะเขาตรวจแล้วไม่มีเป็นแน่ แต่ครั้นเมื่อเสด็จกลับถึงปีนังทรงเปิดหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา มีบันทึกว่า พม่าให้ไทยที่กวาดไปครั้งเสียกรุงนั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองจักกาย หรือสะกาย นั่นเอง

นายสด บอกว่า ตนได้เดินทางมาพร้อมกับคณะกรรมการยูเนสโก เพื่อศึกษาเรื่องราวชาวอยุธยาในพม่า โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2530 ได้เดินทางมายังเมืองสะกาย เพื่อค้นหาร่องรอยชาวอยุธยา จากชาวบ้านจนพบหญิงชราชาวพม่า ชี้ให้คณะเดินทางข้ามสะพานไปอีกฝั่งของแม่น้ำอิรวะดี บอกว่า สมัยก่อนมีชาวอยุธยาอาศัยอยู่ที่นั่น คณะจึงเดินไปและพบพระอินตาคา เจ้าอาวาสวัดข่ามีนเว วัย 65 ปี และได้พาไปยังจุดมุมเจดีย์ด้านทิศตะวันอออกเฉียงใต้ เป็นเจดีย์ประทานของวัด ในขณะนั้นได้มีการบูรณะเป็นศิลปะพม่าหมดแล้ว บริเวณด้านข้างมีศิลาจารึก ภาษาสันสกฤต แปลความหมายได้ว่าขณะนั้นมีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุ ได้มรณภาพลงและมีการจัดพิธีปลงพระศพเป็นการใหญ่โต หลังจากจัดพิธีแล้วเสร็จก็ได้นำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของวัดดังกล่าว พระอินตาคายังได้นำตัวจารึกที่เป็นกระดาษสามาให้ตนและคณะได้ชมด้วย

“ปัจจุบันเจดีย์ที่พบมีการบูรณะในแบบพม่าหมดแล้ว แต่เจ้าอาวาสท่านยืนยันว่าสมัยก่อนไม่ใช่ศิลปะแบบพม่า มีเรื่องเล่ากันว่าเจ้านายภิกษุองค์นี้สิ้นพระชนม์เมื่อปี 2325 เมื่อเทียบแล้วเป็นปีที่รัชกาลที่ 1 ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แสดงว่าพระองค์นี้มาอยู่ในเมืองอังวะได้ 15 ปีแล้ว นอกจากนี้เจ้าอาวาสยังได้นำคณะไปยังกุฏิซึ่งมีพระพุทธรูปเป็นพระไม้ ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ปางยืน ลงรักปิดทองอยู่ในศาลาจากที่ได้เห็นคิดว่าเป็นพระศิลปะอยุธยา ซึ่งทั้งหมดผมบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดบันทึกส่วนตัว ผมไม่ยืนยันว่าที่วัดแห่งนี้จะเป็นสถานที่บรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ ถือว่าอยู่ในร่วมสมัยเพียงแต่พระอินตาคาเล่าให้ฟังและมีศิลาจารึกบ่งบอก และการลงพื้นที่ครั้งล่าสุดกับกรมศิลปากร เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้นำคณะไปยังวัดดังกล่าว แต่ปรากฏว่าพระอินตาคา ได้มรณภาพไปแล้ว 8 ปี ปัจจุบันมีพระปัดดันดะมาเด็งดะ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้เล่าว่าหลังจากพระอินตาคา มรณภาพได้มีการเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปและบันทึกของพระอินตาคาไปยังเมืองย่างกุ้งแล้ว ทำให้การลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่พบความคืบหน้า อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำว่าผมไม่ได้ยืนยันว่าเจดีย์ของวัดแห่งนี้คือสถูปของพระเจ้าอุทุมพร ผมมองว่าไม่ควรรีบร้อนต้องหาหลักฐานให้ชัดเจน เพราะเกี่ยวข้องกับคนไทยทั้งประเทศ ถ้ายังไม่มีอะไรบ่งชี้ชัดเจนก็ต้องค่อยๆศึกษา” นายสด กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น