xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รับรองขุดสถูป “พระเจ้าอุทุมพร”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมศิลปากรไทย-พม่า ไม่รับรองการขุดค้นสกูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร หลังพบคณะทำงานสมาคมจิตพรรณตีขลุมข้อมูลไม่สุจริต หวั่นสร้างประวัติศาสตร์ผิดเพี้ยน ด้าน “วิจิตร” เผยหลักฐานแวดล้อม-นักโบราณคดีพม่า เชื่อได้ว่าเป็นสถูปพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เดินทางไปสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามโครงการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมาร์ : ศึกษาในเขตปกครองมัณฑะเลย์และเขตปกครองสะกาย โดยได้เข้าไปศึกษาข้อมูลที่สุสานลินซินกง เมืองอมรปุระ ที่ทางสมาคมจิตพรรณของไทย ได้ทำการขุดค้น โดยอ้างว่า มีสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร

นายวิจิตร ชินาลัย สถาปนิกอำนวยการโครงการอนุรักษ์โบราณสถานและอุทยานประวัติศาสตร์เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร ทำการในนามสมาคมจิตพรรณ กล่าวว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 พระองค์ยังทรงอยู่ในสมณเพศ และได้ถูกนิมนต์มาอยู่ที่เมืองอังวะ พร้อมกับพระราชวงศานุวงศ์อื่นๆ รวมทั้งราษฎรที่ถูกกวาดต้อนมา พระองค์ได้จำพรรษาที่เมืองอังวะและอมรปุระจนถึงปี 2339 และมรณภาพที่เมืองอมรปุระ อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบันมีหลักฐานแวดล้อมที่เชื่อว่าสุสานลินซินกงแห่งนี้เป็นที่ตั้งสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร โดยทางสมาคมจิตพรรณได้ทำการขุดค้นมาตั้งแต่ 21 ก.พ. 2556 จนกระทั่งพบหลักฐานอันได้แก่ ฐานเจดีย์ที่เป็นบริเวณถวายพระเพลิงของกษัตริย์ต่างชาติในประเทศราช พระองค์เดียวที่พระเจ้าปดุง พระมหากษัตริย์พม่าจัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพให้ และมีการสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิ ถวายเป็นพระราชกุศล หลังจากนั้น เมืองอมรปุระก็ล่มสลายไป

นายวิจิตร กล่าวว่า การค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ บาตรแก้วมรกต บรรจุอัฐิ ลวดลายแปลกตาไม่ใช่พม่า และไม่ใช่ลายไทยที่เห็นกันโดยทั่วไป มียอดเป็นทรงดอกบัวตูม มีโครงไม้พานแว่นฟ้า ยืนยันชัดเจนว่าจะต้องเป็นบาตรบรรจุอัฐิ ของสมณศักดิ์พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น ซึ่งพระเจ้าอุทุมพร มาอยู่ที่อมรปุระ พระองค์เป็นพระมหาเถระ 1 ใน 7 องค์ ที่ประทับอยู่ที่เมืองนี้ ยังพบหลักฐานใหม่ หลังคากระเบื้อง ซึ่งพม่าในยุคนั้น ไม่มีใช้ แต่จะปรากฏในอยุธยาตอนปลาย และพบตุ๊กตาดินเผาเด็กไว้ผมแกละ ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมเด็กอยุธยาเท่านั้นที่ไว้ผมทรงนี้

นายวิจิตร กล่าวอีกว่า ที่สำคัญขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ และรัฐบาลพม่า ได้เชื่อในหลักฐานที่คณะทำงานค้นพบ และอนุญาตให้ทำอนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ตนจึงเห็นว่าไม่ต้องพิสูจน์อะไรมาก เพราะมั่นใจว่ามีหลักฐานแวดล้อมเชื่อมโยงการค้นพบพระบรมอัฐิครบถ้วน และไม่มีหน้าที่ตอบคำถามว่า ใช่หรือไม่ อยากให้มาถามนักวิชาการพม่าเพราะเค้ามีหลักฐานยืนยันได้ ทั้งนี้ ตนได้ทำหนังสือถึงนายกเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อยืนยันหลักฐานการค้นพบและขอจัดทำอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพร หลังจากเสร็จสิ้นโครงการจะมอบให้เป็นของขวัญให้แก่รัฐบาลมัณฑะเลย์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ความสัมพันธ์สองประเทศ

ด้านนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การเดินทางไปศึกษาข้อมูลครั้งนี้ กรมศิลปากร ได้หารือกับกรมโบราณคดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์แล้ว รับทราบข้อมูลว่า การขุดค้นดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางของเมียนมาร์ เพียงแต่มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์เท่านั้น จึงถือว่า ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกัน รายงานการค้นของสมาคมจิตพรรณ ที่เสนอมายังกรมศิลปากร ก็มีข้อขัดแย้งหลายประการที่ทำให้มีความไม่มีความน่าเชื่อถือ และการดำเนินงานยังไม่มีนักโบราณคดีทั้งของไทยและพม่าร่วมคณะทำงานดังกล่าว จึงไม่อาจสรุปหลักฐานทางโบราณคดีว่า สถูปที่ค้นพบเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ ดังนั้น จึงถือว่าทางการไทยไม่รับรองการขุดค้นดังกล่าว ซึ่งควรมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่านี้

นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า ตนลงพื้นที่จริง และได้พิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่า เอกสารต่างประเทศ ที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้นกล่าวอ้างถึงว่า มีการบันทึกถึง สถูปองค์นี้ว่ามีการบรรจุ พระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทั้งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าว บอกว่ามีหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ ภาชนะ ทำด้วยดินเผาประดับกระจก มาถึงหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์

นักโบราณคดีเชียวชาญ กล่าวอีกว่า รายงานฉบับนี้ นักโบราณคดีทั่วโลกไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร นั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อ พาราไบเก เอกสารพาราไบเกเก็บไว้ที่ ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99 /288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป ตนขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น